งานบริการวิชาการฯกอดคอเครือข่ายบริการวิชาการ ลงพื้นที่สวนลุงสงค์ ต.บางใบไม้
…..จัดเวทีสัมมนาความต้องการของชุมชน พร้อมเจาะลึกเรื่อง “มะพร้าว” ผลักดันให้เป็นผลไม้ อัตลักษณ์เมืองสุราษฎร์ ตามข้อเสนอแนะอนุกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
…..เมื่อเวลา 11.00 น. (3 มีนาคม 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น นำโดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ พร้อมด้วยเครือข่ายบริการวิชาการ ได้แก่ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยนาชาติการท่องเทียว สาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยตัวแทนจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI ได้เดินทางไปยัง สวนลุงสงค์ ตำบลบางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชน และร่วมเสวนาวิถีชีวิตในมิติต่างๆ โดยมีนางสาวณัฐธิญาณี ธัญญลักษณ์ เลขานุการวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชีววิถีลุ่มน้ำตาปีและแกนนำชุมชนให้การต้อนรับ
…..เนื่องจาก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มี ผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชีววิถีลุ่มน้ำตาปี ได้เดินทางมาเข้าพบ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ โดยการประสานงานจากจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI เพื่อร่วมหารือเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในมิติต่างๆ งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นจึงได้ประสานเครือข่ายบริการวิชาการกำหนดแผนการดำเนินงานและร่วมลงพื้นที่ร่วมเวทีเสวนาดังกล่าว
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของการลงพื้นที่สวนลุงสงค์ว่า ทางคณะทำงานได้ร่วมกันกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานว่าประการแรก จะต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังความต้องการของชุมชนโดยการพูดคุย สัมภาษณ์ และจัดเวทีสัมมนา แล้วนำข้อมูลในทุกประเด็นมาร่วมกันวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการดำเนินการและความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนตามประเด็นที่ชาวบ้านได้นำเสนอและแสดงความคิดเห็นให้กับมหาวิทยาลัยได้รับทราบ หลังจากที่ได้ประเด็นที่ต้องดำเนินการทางคณะทำงานจะต้องลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อร่วมพูดคุยทำความเข้าใจกับกระบวนการและขั้นตอนที่จะต้องร่วมกันทำกับแกนนำชุมชนและชาวบ้าน และเมื่อได้ข้อสรุปในการตกผลึกทางความคิดจากทั้งสองฝ่าย มหาวิทยาลัยจะกำหนดแผนการดำเนินเป็นระยะๆ พร้อมทั้งประสานกับทุกภาคส่วนให้รับทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับในอนาคต และร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามแผนซึ่งคาดว่าจะต้องร่วมกันทำในระยะยาว เพราะหลังจากที่ได้ร่วมพูดคุยและให้ชาวชุมชนแสดงความคิดเห็น มีโจทย์ที่สำคัญหลายโจทย์ที่มหาวิทยาลัย โดยเครือข่ายภายในจะต้องนำมาวิเคราะห์ตามประเด็น เช่น ประเด็นมะพร้าวซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เพราะตรงกับเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าว ตามข้อเสนอแนะของอนุกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่มีความประสงค์ให้มหาวิทยาลัยได้นำองค์ความรู้ของทุกศาสตร์มาบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกัน และคิดว่ามะพร้าวเป็นผลผลิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงควรนำมาเป็นโจทย์และควรผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง
…..เมื่อซักถามถึงประเด็นที่น่าสนใจและควรที่จะต้องดำเนินการ ผู้ช่วยอธิการบดีฯกล่าวว่า มีหลายประเด็นที่คิดไว้ในเบื้องต้นและที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว เช่น การกำจัดศัตรูพืชที่ทำความเสียหายให้แก่ผลผลิต ซึ่งจะต้องร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร นอกจากนี้ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันคือลิงซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว เนื่องจากทราบว่าตำบลบางใบไม้มีผู้เชี่ยวชาญในการฝึกลิงเพียงครัวเรือนเดียว ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าคณะทำงานจะต่อยอดให้ศาสตร์นี้อยู่กับวัฒนธรรมชาวในบางอย่างไร ซึ่งทราบข้อมูลว่ามีผู้เลี้ยงลิงทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดได้ส่งลิงมาให้ฝึกประมาณ 4 – 5 ตัวต่อวัน โดยขณะนี้มีลิงในโรงเรียนฝึกลิงถึง 20 ตัว นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นอีกมาก เช่น การยกระดับพื้นที่บางใบไม้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าว เป็นโจทย์ที่คณะทำงานจะต้องเร่งกันระดมความคิดว่ามิติใดบ้างที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการต่อไปได้
…..ด้านนายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวถึงประเด็นที่ชุมชนได้นำเสนอและต้องการให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือว่า หลังจากที่ได้ร่วมเวทีสัมมนาทางคณะทำงานได้สรุปประเด็นหลักไว้หลายประเด็นแต่อยากจะข้อยกประเด็นที่น่าสนใจเช่น การเปิดช่องทางการตลาดของน้ำพริกสมุนไพร ซึ่งวัตถุดิบทำมาจากสมุนไพรพื้นบ้านทั้งสิ้น เช่น น้ำพริกขมิ้น น้ำพริกตะไคร้ น้ำพริกขิงและข่าเป็นต้น นอกจากนี้ การทำโฮมสเตย์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและรองรับนักท่องเที่ยวก็เป็นมิติหนึ่งที่จะนำมาพิจารณา
…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ ได้กล่าวสรุปผลของการดำเนินงานลงพื้นที่และได้กล่าวกับแกนนำชุมชนบางใบไม้ว่า ต่อจากนี้ทางคณะทำงานคงต้องลงพื้นที่บางใบไม้อีกหลายครั้ง เพราะต้องการที่จะทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับประชาชนในตำบลบางใบไม้และหน่วยงานอื่นที่ต้องการสนับสนุน แต่นอกเหนือจากสิ่งที่ได้รับในวันนี้คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวของคนบางใบไม้ ต่อไปนี้เราจะไม่แบ่งแยกขอบเขตของบางโพธิ์ คลองฉนาก บางไทร หรือ คลองน้อย แต่เราจะร่วมกันสร้างและผลักดันให้คนในพื้นที่ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดได้รับรู้ถึงความเป็นอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นบางใบไม้ที่ขึ้นชื่อและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ตามวิถีชีวิตของชุมชน ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปในทุกวินาที แต่คนในชุมชนจะต้องอยู่ได้ด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมอันดีงาม และขอให้ชาวชุมชนทุกท่านได้รับทราบว่าถ้าต้องการสิ่งใดที่มหาวิทยาลัยสามารถช่วยได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเปิดประตูต้อนรับ 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังที่ร่วมส่งเสริมสนับสนุนและยกระดับวิถีชุมชนทุกมิติ ตามปณิธานมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี