งานบริการวิชาการฯ ร่วมกับเครือข่ายสาขาวิชาการเมืองการปกครอง รปศ.–พัฒนาชุมชน ผุดไอเดีย ฐานข้อมูลชุมชนขุนเล หวังพัฒนาและบูรณาการกับการเรียนการสอน

แกนนำหัวกะทิจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระดมความคิดการสร้างข้อมูลสารสนเทศ การบริหารจัดการฐานข้อมูลเพื่อการบริการวิชาการ ผลการหารือ ชี้นำร่อง 3 สาขาวิชา สายแข็งออกแบบเครื่องมือเพื่อการสำรวจบริบทชุมชนและจัดเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐาน

…..เมื่อเวลา 14.00 น. (12 มกราคม 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น นำโดย ดร.สมราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และ นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมด้วยอาจารย์ธาตรี คำแหง แกนนำคณาจารย์จากสาขาวิชาการเมืองการปกครอง อาจารย์พงศ์เทพ แก้วเสถียร แกนนำคณาจารย์จากสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน และ อาจารย์วิทวัส ขุนหนู ประธานสาชาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมการประชุมหารือ เรื่องการจัดเก็บฐานข้อมูลชุมชน ณ ห้องประชุมเล็ก ชั้น 2 งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น อาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นการประชุมหารือด้วย

…..ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการร่วมแสดงความคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริการวิชาการในชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ตำบลขุนทะเลทั้ง 10 หมู่บ้าน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะนำไปเป็นข้อมูลสารสนเทศในการบูรณาการการเรียนการสอนซึ่งเริ่มใช้โดยศาสตร์ของการพัฒนาชุมชนและศาสตร์ของรัฐประศาสนศาสตร์

…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงผลจากการร่วมหารือและแนวทางในการดำเนินงานระยะต่อไปว่า มหาวิทยาลัยฯมีความคิดที่จะทำฐานข้อมูลในการบริการวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นในลักษณะของฐานข้อมูลชุมชนเพื่อการบริการวิชาการ และการยกระดับพัฒนาชีวิตของชุมชนท้องถิ่นทั้งในครัวเรือนและหมู่บ้าน นอกจากนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลในการบูรณาการการเรียนการสอนโดยวันนี้ได้มีแกนนำอาจารย์ผู้ใกล้ชิดและเข้าใจปัญหาความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี คืออาจารย์ธาตรี คำแหง อาจารย์พงศ์เทพ แก้วเสถียร และอาจารย์วิทวัส ขุนหนู ทั้ง 3 ท่านมีประสบการณ์ในการลงพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น มีข้อมูลที่หลากหลายเพราะได้พูดคุยกับชาวชุมชนและผู้นำหมู่บ้านบ้าน ดังนั้นทั้ง 3 ท่านจึงนำเอาข้อมูลที่ได้รับจากชาวชุมชนท้องถิ่นมาร่วมคิดหาแนวทางในการจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชนด้วย นอกจากนี้ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ยังได้กล่าวถึงความคาดหวังและยกตังอย่างผลการดำเนินงานในกรณีศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า

…“โดยประเด็นนี้มีโมเดลที่ทำสำเร็จมาแล้วในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งใช้วิธีการเก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนรายครัวเรือน แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์และนำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับครัวเรือน ฝ่ายบริการวิชาการเห็นว่าแนวทางนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างตรงประเด็น โดยการเก็บข้อมูลจะใช้นักศึกษาจาก 3 สาขาวิชาดังกล่าว เพื่อจะดำเนินการในลักษณะทดลองในพื้นที่หมู่ 9 ตำบลขุนทะเล เป็นลักษณะการบูรณาการรายวิชาลงสู่ชุมชนตามนโยบายของมหาวิทยาลัย

…..ด้านนายอรุณ  หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลในพื้นที่ตำบลขุนทะเล จะช่วยให้โครงการฯที่มหาวิทยาลัยร่วมทำกับท้องถิ่นสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นข้อมูลในลักษณะของการสำรวจบริบทชุมชน และความต้องการพื้นฐานของคนในชุมชนที่จะให้มหาวิทยาลัยเข้าไปดูแล นอกจากนี้การจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวจะทำให้งานบริการวิชาการฯและมหาวิทยาลัยฯสามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงเพราะมีความละเอียดถึง 2 ระดับ คือระดับครัวเรือน และระดับหมู่บ้าน

…..ข้อสรุปของการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลชุมชนสรุปได้ว่า รูปแบบการจัดเก็บจะต้องเป็นในลักษณะของการได้มาซึ่งข้อมูลครัวเรือนและข้อมูลของหมู่บ้าน โดยมอบหมายให้ทั้ง 3 สาขาวิชาเป็นผู้ออกแบบเครื่องมือ ซึ่งอาจจะใช้นักศึกษา 600 คน ที่ช่วยในการลงพื้นที่จัดเก็บเพราะข้อมูลดังกล่าวจะนำไปเป็นข้อมูลในการบูรณาการการเรียนการสอนและช่วยในการวิจัยด้วย ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในตำบลขุนทะเล หมู่ที่ 9 ซึ่งที่ประชุมกำหนดให้เชิญผู้นำและตัวแทนหมู่บ้านดังกล่าวร่วมประชุมทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานลักษณะ ของรูปแบบเครื่องมือ ในวันที่ 19 มกราคม 2561 เวลา 14.00 น. ณ อาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts