งานบริการวิชาการฯ จัดประชุมกำกับติดตาม โครงการเศรษฐกิจพอเพียง สายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อยกระดับการทำบรรจุภัณฑ์ แบรนด์ขุนเลทั้ง 10 หมู่บ้าน

ด้าน UBI โชว์กื๋น เนรมิตแบรนด์ 23 แบบให้เลือก ตอบสนองผลิตภัณฑ์คุณภาพจากชุมชน พร้อมลงพื้นตามแผนพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ

…..เมื่อเวลา 10.30 น. (9 สิงหาคม 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฎ สุราษฎร์ธานี ดำเนินการจัดประชุมวางแผนติดตามการดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวโครงการเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ณ ห้องประชุมศูนย์การเรียนรู้ 5 ชั้น 2 อาคารบูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดย ผศ.เตชธรรม สังข์คร ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (UBI) และทีมงาน พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชน ทั้ง 10 หมู่บ้านเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวว่า ทางงานบริการวิชาการฯ ได้เชิญผู้นำชุมชนและผู้แทนจาก 10 หมู่บ้าน เพื่อร่วมวางแผนติดตามการดำเนินงาน และยกระดับในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน ซึ่งได้ทราบว่าทาง UBI ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และตัวอย่างโลโก้แบรนด์ขุนเล รวม 23 แบบ มาให้ที่ประชุมได้เลือกและปรับรูปแบบตามความเหมาะสม พร้อมทั้งได้จัดทำแบบฟอร์มแผนพัฒนาบรรจุภัณฑ์กำหนดรายละเอียดรายการการออกแบบผู้ประกอบการหรือชุมชน เช่น การระบุชื่อผู้ผลิต/กลุ่มหมู่บ้าน สถานที่ที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ เป็นต้น ซึ่งวันนี้อยากได้ข้อสรุปว่าหมู่บ้านใดสามารถขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์เพื่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามความเหมาะสมและจำหน่ายสู่ท้องตลาดต่อไปได้ ทั้งนี้การดำเนินงานภายใต้แบรนด์ขุนเล ได้เสนอให้นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับทราบแล้ว ซึ่งทางจังหวัดพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

…..ด้านนายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวถึงข้อสรุปในการดำเนินงานระยะต่อไปว่า ที่ประชุมได้หารือและสอบถามผลการดำเนินงานตามปฎิทินการดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพื้นที่รับผิดชอบ โดยได้ข้อสรุปว่าหมู่บ้านที่สามารถดำเนินการออกแบบบรรจุภัณฑ์ คือหมู่ที่ 6 การทำแยมมัลเบอร์รรี่ และน้ำมัลเบอร์รี่ หมู่ที่ 7 การทำปลาดุกร้า ปลาดุกแดดเดียว และไข่เค็ม หมู่ที่ 8 การทำเครื่องแกงซึ่งทราบว่าได้มาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว สบู่ และน้ำยาล้างจาน หมู่ที่ 9 ไข่ไก่อารมณ์ดี หมู่ที่ 10 ไตปลาแห้ง น้ำมันเหลืองสมุนไพร สบู่ และน้ำยาล้างจาน

…..ทั้งนี้ที่ประชุม ได้กำหนดแผนการลงพื้นที่ในการสำรวจข้อมูลรายละเอียดของผู้ผลิต รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยกำหนดว่า วันที่ 17 สิงหาคม 2561 หมู่ที่ 7และหมู่ที่ 10 จะร่วมพูดคุยถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี วันที่ 18 สิงหาคม 2561 ลงพื้นที่หมู่ที่ 8 ในส่วนของหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 9 ทางกรรมการหมู่บ้านจะให้คำตอบและเตรียมพร้อมผลิตภัณฑ์โดยจะประสานมายังคณะทำงานงานบริการวิชาการอีกครั้ง

…..ช่วงท้ายของการประชุม ผู้ช่วยอธิการบดีได้กล่าวถึงกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้ในระยะต่อไปว่า มหาวิทยาลัยมีเรือนไทย 4 ภาค ซึ่งมีความคิดให้ประชาชนทั้ง 10 หมู่บ้าน เข้ามาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้าน โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องสวมใส่ชุดไทยให้เหมาะสมกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อม ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ดังนั้นจึงอยากให้กรรมการและประชาชนทั้ง 10 หมู่บ้านกลับไปร่วมพูดคุยหาข้อสรุป และถ้าอยากจะร่วมกิจกรรมดังกล่าวก็สามารถประสานมายังคณะทำงานของงานบริการวิชาการฯได้ตลอดเวลา

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น

Similar Posts