งานบริการวิชาการฯ เร่งติดตามเชิญแกนนำชุมชนร่วมหารือสร้างแบรนด์ มติชัดเจน “ขุนเล”มาแรงเป็นเอกลักษณ์ไร้คู่แข่ง

ด้าน UBI ร่วมแจมสร้างแบรนด์หนุนงบฯ หวังเปิดช่องทางการตลาดชุมชนขุนทะเลโตขึ้นอยู่ได้ด้วยตนเอง ส่วนสายแข็งด้านธุรกิจค้าปลีกกำหนดจัดอบรมระบบ Online – Offline ดีเดย์ 14 ก.พ.61

…..เมื่อเวลา 13.00 น. งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดประชุมหารือแกนนำชุมชนตำบลขุนทะเล ณ ห้องเรียนรู้ 5 อาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อติดตามการดำเนินงานในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ให้แกนนำหมู่บ้านและคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ในชุมชนท้องถิ่นและเสริมสร้างช่องทางการตลาดโดยการอบรมตลาด Online และ Offline พร้อมทั้งเสนอชื่อผู้เข้าอบรมจัดทำเว็บไซต์หมู่บ้านละ 2 คน

…..โดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการฝ่ายบริการวิชาการ ประธานที่ประชุมได้เผยว่า อยากให้แกนนำชุมชนและมหาวิทยาลัยร่วมกันระดมความคิดในการสร้างแบรนด์และโลโก้ พร้อมทั้งช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยให้พิจารณาของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการแปรรูปผลิตผลที่ในชุมชน ซึ่งผู้ช่วยอธิการบดีฯให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า การจัดทำแบนด์หรือโลโก้จะต้องสื่อถึงบริบทของชุมชนท้องถิ่นให้กลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคจดจำได้ง่าย อีกทั้งผลิตผลที่ต้องการแปรรูปต้องมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของตลาดหรือไม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องของการแปรรูปการให้ความรู้อบรมเชิงปฏิบัติการเพราะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ในส่วนของการทำบรรจุภัณฑ์และช่องทางการตลาดก็เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือในการคิดค้นออกแบบเทคนิควิธีการทำอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจหรือ UBI ผู้มีหน้าที่ดำเนินการในการสร้างแบรนด์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความต้องการของชุมชน จึงสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโลโก้และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะจัดทำเป็นต้นแบบจำนวน 3 ชิ้น มาเสนอให้มหาวิทยาลัยและที่ประชุมได้ช่วยกันคัดเลือกให้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น

…..​ด้านอาจารย์เตชะธรรม สังข์คร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก คณะวิทยาการจัดการ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการสร้างแบรนด์ควรใช้เป็นแบรนด์เดียวแต่หลากหลายผลิดภัณฑ์จากหลายชุมชน เพราะง่ายต่อการจดจำเป็นรูปธรรมชัดเจน และสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นธุรกิจของชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่การแบรนด์เดียวกันมีข้อควรระวังคือผลิตภัณฑ์ของทุกชุมชนต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันและคงมาตรฐานนั้นไว้ตลอดเพราะเมื่อมีข้อผิดพลาดของหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งก็จะมีผลกระทบต่อแบรนด์ของชุมชนทันที ซึ่งการจัดทำแบรนด์และโลโก้ทางทีมงานจะเดินทางไปสัมผัสบริบทชุมชนท้องถิ่น เพราะการดำเนินการดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนด้วย โดยจะทำแผนกำหนดการลงพื้นที่มาเสนอให้กับงานบริการวิชาการฯอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าการสร้างแบรนด์และโลโก้จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มกราคม 2561

…..ด้านนายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวเสริมว่า การสร้างแบรนด์ควรเริ่มจากการมีผลิดภัณฑ์ และแปรรูปผลิตผลให้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ต้องคำนึงผลิตภัณฑ์โดยจำแนกเป็นของอุปโภคและบริโภค เช่น ผัก ทุเรียน แยมจากผลมัลเบอร์รี่ เครื่องแกง หรือของใช้ เช่น น้ำยาเอนกประสงค์ พวงหรีด เป็นต้น แล้วจึงนำเข้ากระบวนการของศูนย์บ่มเพาะเป็นลำดับสุดท้าย นอกจากนี้จากผลการประชุมครั้งก่อน(8 พ.ย. 60) แกนนำหมู่บ้านต้องการให้มหาวิทยาลัยฝึกอบรมให้ความรู้ เรื่องเทคนิคการแปรรูปอาหาร และที่ประชุมได้เสนอให้ดำเนินการอบรมการจัดทำเว็บไซต์ และ เทคนิคช่องทางการเปิดตลาด Online และ Offline ขึ้นด้วยพร้อมทั้งให้หมู่บ้านจัดส่งชื่อผู้ทำหน้าที่เป็นแอดมินของหมู่บ้านจำนวน 2 คน ดังนั้นจึงเสนอให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว โดยกำหนดวันการฝึกอบรม พร้อมทั้งกำหนดปฏิทินการลงพื้นที่ซึ่งจะต้องมีทีมงานการสร้างแบรนด์และโลโก้ ทีมงานเทคนิควิธีการแปรรูปอาหาร และทีมสร้างช่องทางการตลาดลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งงานบริการวิชาการฯจะดำเนินการกำหนดปฏิทินพร้อมทั้งประสานไปยังคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

…..อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในเรื่องการสร้างแบรนด์ให้กับชุมชน มติที่ประชุมได้คัดเลือก และคิดค้นชื่อแบรนด์ภายใต้ชื่อ “ขุนเล”โดยให้เหตุผลว่า เป็นชื่อของชุมชนจดจำได้ง่ายและไม่ซ้ำกับแบรนด์ “ขุนทะเล” ของหมู่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในส่วนของการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ประชุมได้กำหนดวันเข้าร่วมอบรมเรื่องเทคนิคการใช้ช่องทางตลาด Online และ Offline โดยให้ชุมชนเสนอชื่อตัวแทนเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวหมู่บ้านละ 3 คน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดทำเว็บไซต์ จะมีตัวแทนเข้าร่วมอบรมหมู่บ้านละ 2 คน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อาคารทีปังกรณรัศมีโชติ

…..ขณะที่ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวปิดการประชุมว่า “ในนามของมหาวิทยาลัยขอให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะทำอย่างจริงจังและขอให้มั่นใจได้ว่ามหาวิทยาลัยเป็นของทุกท่าน ชาวชุมชนขุนทะเลอยากให้ช่วยเหลืออะไร อยากให้มหาวิทยาลัยทำอะไร หรือแก้ปัญหาใดให้ท่าน ขอให้ท่านประสานได้ทันที หากชุมชนเกิดปัญหาหรือมีผลกระทบกับสิ่งใดมหาวิทยาลัยจะนิ่งดูดายไม่ได้อีกแล้ว ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นมหาวิทยาลัยของท่านและจะดำเนินตามแนวดังปณิธาณว่า มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินให้เป็นพลัง

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts