คณะทำงานบริการวิชาการฯลงพื้นที่ SURVEY ตลาดนัดใต้เคี่ยม อ.ละแม จ.ชุมพร หวังยกระดับส่งเสริมการบริหารจัดการตลาดประชารัฐ

…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯ เผย ตั้งเป้าแก้ปัญหาขยะ – การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และบริการจัดทุกมิติภายใต้หลักการ การคงอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิม ด้านคณะกรรมการใต้เคี่ยม เห็นชอบถ้ามรส.พร้อมสนับสนุน

…..เมื่อเวลา 08.00 น. (18 กุมภาพันธ์ 2561) คณะทำงานบริการวิชาการ นำโดย ดร.สมปราชญ์     วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ พร้อมด้วย อาจารย์ธาตรี คำแหง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผศ.เตชธรรม สังข์คร และอาจารย์จุฑารัตน์ ธาราทิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ จากคณะวิทยาการจัดการ ดร.พงษ์ศักดิ์ นพรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการขยะ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางไปยังตลาดนัดใต้เคี่ยม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เพื่อดำเนินการสำรวจและวิเคราะห์ความต้องการของชุมชนด้านการบริหารจัดการในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระยะแรกตามโครงการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการตลาดประชารัฐใต้เคี่ยม โดยมีคณะกรรมการตลาดนัดดังกล่าวให้การต้อนรับและร่วมพูดคุยหาแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป

…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ของการดำเนินงานในการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการตลาดประชารัฐใต้เคี่ยมว่า คณะทำงานงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น และเครือข่ายผู้แทนจากคณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย อาจารย์ธาตรี คำแหง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปตลาดประชารัฐใต้เคี่ยมเพื่อทำการสำรวจพื้นที่บริบทของชุมชน ร่วมสนทนาและสอบถามปัญหาความต้องการของผู้นำหมู่บ้านและแกนนำชุมชน ทั้งนี้ทางคณะทำงานบริการวิชาการได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติตามความต้องการของชุมชนและตามความเหมาะสมของพื้นที่รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการได้ร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการตลาดนัดใต้เคี่ยม นำโดย นายนรินทร์ พันธ์เจริญ กำนันตำบลละแม ได้ข้อสรุปว่า มหาวิทยาลัยจะดำเนินการใน 3 ประเด็นคือ 1. ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชุมชนภายใต้หลักการ การคงอยู่ของวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม 2. การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดใต้เคี่ยม และ 3. การบริหารจัดการขยะโดยวิธีการแยกขยะเพื่อต่อยอดในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ทราบเบื้องต้นมีขยะไม่ต่ำกว่า 1 ตันต่อวัน

…..ด้าน นายนรินทร์ พันธ์เจริญ กำนันตำบลละแม ได้เปิดเผยถึงระบบการบริหารจัดการตลาดประชารัฐใต้เคี่ยมว่า จากการได้พูดคุยและร่วมแสดงความคิดกับทีมงาน ดร.สมปราชญ์ ได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ที่ความแน่วแน่ที่ต้องการช่วยยกระดับพัฒนาการบริหารจัดการชุมชนละแม และพื้นที่ในตลาดนัดใต้เคี่ยม ซึ่งทางคณะกรรมการ ได้ร่วมกันหาทิศทางที่ตรงกันกับทางมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การจัดทำรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชนิดสินค้า และสามารถย่อยสลายได้โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และที่สำคัญการบริหารจัดการขยะภายในตลาดและบริเวณใกล้เคียงเป็นความต้องการในอันดับแรก เพราะผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาจับจ่ายสินค้ายังไม่มีความเข้าใจในการแยกขยะ และกระบวนการของการจัดการภายในชุมชนแห่งนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงได้เสนอให้คณะทำงานช่วยจัดทำรายงานในรูปแบบที่สะท้องถึงระบบและกลไกในการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามมาตรฐานเพื่อนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งทางคณะทำงานได้ตอบรับเป็นอย่างดี และจะกำหนดแผนในการดำเนินงานร่วมกันอีกครั้ง สุดท้ายนี้ ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการและชาวชุมชนละแม ขอขอบคุณคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นอย่างยิ่งที่ให้ความอนุเคราะห์ และแสดงความจริงจังจริงใจในการสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของชุมชนทุกๆด้านและหวังว่าจะได้ร่วมกิจกรรมด้านอื่นๆกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีอย่างต่อเนื่อง

…..“ตลาดใต้เคี่ยม เป็นตลาดนัดชุมชนในบรรยากาศวิถีพื้นบ้านไทยๆ ซึ่งหลายๆคนเรียกตลาดแบบนี้ว่าตลาดย้อนยุค และสิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาดแห่งนี้มีความโดดเด่นไม่ธรรมดาแตกต่างไปจากที่อื่น เพราะเป็นตลาดนัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของดง“ต้นเคี่ยม”ต้นสูงใหญ่ร่มรื่นเขียวครึ้มราว 10 ไร่ ถือเป็นแนวร่มกันแดดตามธรรมชาติให้เราไปเดินจับจ่ายซื้อของและนั่งพัก นั่งกินอะไรๆอร่อยๆได้อย่างเพลิดเพลิน

…..สำหรับต้นเคี่ยม ต้นไม้ที่มาของชื่อตลาดแห่งนี้ เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นตั้งต้นตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบหนาแน่น มีความสูงประมาณ 20-40 เมตร พบทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไป (ขอขอบคุณข้อมูล : ปิ่น บุตรี)

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts