งานบริการวิชาการฯ มรส. ระดมพลวางแผนพัฒนาต่อยอดเกาะพลวย

…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯเผย เตรียมงัดไม้เด็ดแปรรูปอาหารเพิ่มมูลค่า พร้อมผุดโฮมสเตย์ได้มาตรฐาน สมฐานะเกาะพลังงานสะอาด ด้านขุนพลพยาบาลชี้ต้องเพิ่มความรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อสุขภาพชาวชุมชนท้องถิ่น

…..เมื่อเวลา 10.00 น. งานบริการวิชาการและพัฒนาท้องถิ่น กำหนดจัดประชุมแผนพัฒนาต่อยอดโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวดอกสัก – เกาะพลวย โดยเชิญเครือข่ายภายในองคาพยพมหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ และวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว เข้าร่วมประชุมระดมความคิดในครั้งนี้ด้วย

…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวว่า ผลที่ได้จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนดอนสัก – เกาะพลวย ทำให้เราต้องต่อยอดโครงการและวางแผนในแต่ละขั้นตอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำรงชีวิตของชาวชุมชนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นคุณูปการอย่างมาก ซึ่งตอนนี้งานบริการวิชาการฯ ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการฯดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2561 และได้กำหนดกิจกรรมประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อคือ ในส่วนของการปฐมพยาบาลหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน “จริงอยู่ที่เขามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แต่ด้วยระยะทางที่เป็นอุปสรรคทำให้แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถเดินทางมาได้ในบางครั้ง นอกจากนี้ ระยะทางในการเดินทางไปโรงพยาบาลที่เกาะสมุย หรือเกาะพงัน มีค่าใช้จ่ายในการเช่าเหมาเรือค่อนข้างสูง ประมาณ 10,000 – 15,000 บาท” ดังนั้น โครงการการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และทางงานบริการวิชาการฯจะระดมเครือข่ายความร่วมมือเข้าไปช่วยเหลือในการลงพื้นที่ฝึกปฎิบัติการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสมุนไพร นอกจากนี้ ทางงานบริการวิชาการฯ ต้องเร่งดำเนินโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยคิดช่องทางการตลาด ผลิตและแปรรูป อาหารทะเล โดยคิดรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนอีกด้วย

…..ด้าน ดร.พลกฤต แสงอาวุธ หัวหน้างานพันธกิจสังคม ได้กล่าวถึงโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนดอนสัก – เกาะพลวยว่า มหาวิทยลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 และมีการต่อยอดมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวมีผลดำเนินงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งปัจจุบันเราได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยฯ ภาคใต้ตอนบนที่ให้บริการวิชาการและรับใช้ชุมชนท้องถิ่น โดยมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนงบประมาณ ซึ่งในส่วนของโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนดอนสัก – เกาะพลวย เราต้องเดินหน้าต่อเพื่อยกระดับวิถีชีวิตส่งเสริมอาชีพความเป็นอยู่ให้มั่นคงมากขึ้น โดยขอความร่วมมือจากศาสตร์ต่างๆ เช่น ศาสตร์พยาบาลที่จะต้องดูแลเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ศาสตร์ของวิทยาการจัดการที่จะต้องดูแลเรื่องการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ศาสตร์ของวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยวที่จะต้องดูแลเรื่องส่งเสริมพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว และศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะต้องดูแลเรื่องเทคโลยีการเกษตรเพื่อการผลิตอาหาร การพัฒนาดินและน้ำ ซึ่งศาสตร์เหล่านี้จะเป็นผู้ขับเคลื่อนและพัฒนาเกาะพลวย และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านในทุกมิติ แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงบริบทชุมชนอย่างแน่นอน เพราะถือว่าวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านในชุมชนเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ควรเก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ “การดำเนินงานของเราจะใช้แนวทางและพันธกิจของมหาวิทยาลัยสู่การรับใช้ชุมชนท้องถิ่น”

…..ขณะที่ นายอรุญ  หนูขาว หัวหน้างานบริการพัฒนาท้องถิ่น ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2561 ทุกโครงการจะต้องดำเนินการต่อยอดให้เกิดผลผลิตที่งดงามและทรงคุณค่า เช่น โครงการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับโครงการเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัยด้วย กล่าวคือ เราจะส่งเสริมให้ชุมชนปลูกผัก พืช ที่สามารถบริโภคได้ และสามารถเก็บผลผลิตซื้อขายได้ภายในชุมชน เพราะจากที่ทีมงานบริการวิชาการฯ เดินทางไปสำรวจพบว่า ราคา พืช ผัก หรือแม้แต่เนื้อหมู และเนื้อไก่ มีราคาค่อนข้างแพง ตรงกันข้ามกับราคาอาหารทะเล ดังนั้น จึงร่วมหารือกับเครือข่ายของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเราต้องส่งเสริมการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาพืชสมุนไพร โดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรควบคุมผลผลิต เพื่อให้ได้พืช ผัก สมุนไพรที่สะอาดและปลอดสารพิษด้วย  ในส่วนของการผลักดันการแปรรูปอาหารเรามีแนวคิดว่า เนื่องจากอาหารทะเลที่ชาวประมงในชุมชนส่งไปขายที่เกาะสมุยและร้านอาหารใกล้เคียง ซึ่งต้องผ่านพ่อค้าคนกลางทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาและมูลค่าที่ได้ ดังนั้น แนวคิดในการใช้กรรมวิธีการแปรรูปอาหารจึงเกิดขึ้น “เราจะทำอย่างไรให้ชาวชุมชนสามารถแปรรูปได้ และนำเป็นของฝากที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน สามารถเก็บไว้บริโภคได้ในระยะเวลานาน ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้คิดค้นกรรมวิธีการผลิต และอาจจะต่อยอดเป็นการบูรณาการกับงานวิจัยได้อีกด้วย”  นอกจากนี้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ยังมีโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีแผนที่จะส่งเสริมและพัฒนาโฮมสเตย์ เน้นการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมทั้งการคิดกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น ไปอย่างไร พักที่ไหน กินอะไร และจะซื้อของฝากอะไรกลับไป ซึ่งเราได้ให้ตัวแทนเครือข่ายจากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว เป็นแม่งานในโครงการนี้

…..ผลการประชุมระดมความคิดได้ข้อสรุปว่า ให้เครือข่ายคณะที่เป็นเจ้าภาพผู้ดำเนินงานและขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการต่อยอดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนดอนสัก – เกาะพลวย ดำเนินการส่งแบบเสนอโครงการบริการวิชาการภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 นี้

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ถ่ายภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts