ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ร่วมหารือปราชญ์ชุมชนมะขามเตี้ย พร้อมหนุนโครงการ เศรษฐกิจพอเพียง
เผยหาช่องทางเพิ่มมูลค่า การแปรรูปวัตถุดิบ SRU SHOP เหมาะสมมาก ชี้ชัดเมื่อชุมชนร้องขอ มรส.ต้องเดินหน้าเพื่อให้คนในท้องถิ่นมั่นใจ ในมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน
…..เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 28 ตุลาคม 2560 ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารวิชาการ เดินทางไปยัง ศูนย์การเรียนรู้ หมู่ที่ 8 ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมหารือกับ นายพรภิรมณ์ จารุจารีต ประธานปราชญ์ชุมชน เรื่องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดย นายพรภิรมณ์ ได้ให้ความเห็นว่า มหาวิทยาลัยฯกับชาวบ้านควรร่วมมือกันในการหาช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบแปรรูปของชุมชน ในส่วนของ ผู้ช่วยอธิการบดีฯ พร้อมรับหน้าที่เป็นฝ่ายประสาน และจะดำเนินการเสนอผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ กล่าวถึงการหารือในครั้งนี้ว่า “ได้ร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนหรือปราชญ์ชุมชนหมู่ที่ 8 ตำบลมะขามเตี้ย เรื่องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามโครงการและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อผลิตวัตถุดิบและการแปรรูปอาหาร เช่น ปลาส้ม ปลาแดดเดียว ชาใบหม่อน เป็นต้น ทั้งนี้จะดำเนินการเสนอให้มหาวิทยาลัยฯรับทราบความเป็นมาเพราะ ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มคุ้มความสุข เพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน ซึ่งทางผู้นำชุมชนได้เสนอความเห็นให้มหาวิทยาลัยฯและชาวบ้านร่วมกันในการประชาสัมพันธ์ และหาช่องทางการตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ จากการพูดคุยในเรื่องดังกล่าว ยังมีแผนการต่อยอดทำวิจัยผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะร่วมกันหารืออีกครั้ง”
…..ด้าน นายพรภิรมณ์ จารุจารีต เผยว่า สิ่งที่อยากให้มหาวิทยาลัยฯช่วยเหลือและสนับสนุนคือยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยการหาช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูป และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและสนใจบริโภคผลิตภัณฑ์ของชุมชนมะขามเตี้ย เพราะตอนนี้ ทางชุมชนหมู่ที่ 8 ได้จัดตั้งกลุ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ชื่อกลุ่มคุ้มความสุข โดยจะทำการแปรรูปวัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่น ชาใบหม่อนซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตและทำการแปรรูปคือการนำไปผึ่งลม จนแห้งแล้วจึงนำไปคั่วจนหอมและนำไปบรรจุใส่ห่อ นอกจากนี้ยังได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายเพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นการต่อยอดให้กับชุมชนในการคิดผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป”
…..ท้ายสุดของการร่วมหารือดังกล่าว ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ได้กล่าวว่า “ได้เล็งเห็นช่องทางการตลาดให้กับชุมชน คือ ตลาดนัดมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธและวันอาทิตย์ พร้อมกันนี้ ยังมีความคิดที่จะประสานไปยังผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดจำหน่ายในร้าน SRU SHOP ของสำนักทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ ส่วนชาวชุมชนท้องถิ่น อยากให้มหาวิทยาลัยฯดำเนินการอย่างไร ? ช่วยเหลือเรื่องอะไร ? ขอให้บอก หากเรื่องใดที่มหาวิทยาลัยฯ ทำได้จะช่วยเหลือให้ถึงที่สุด เพราะอยากให้คนในชุมชนได้จดจำราชภัฏสุราษฎร์ฯ เป็น UNIVERSITY FOR ALL และเป็นมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน ผู้สร้างแผ่นดินให้เป็นพลังได้อย่างแท้จริง”
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี