รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ เปิดเกมส์รุกทุกโครงการคลี่ภาระงาน จัดตั้งเป็น “กอง”
บริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น กำกับ ติดตามแผนการดำเนินงานทุกโครงการตามระเบียบการเบิกจ่าย พร้อมจัดทำโครงสร้างอัตรากำลังเพื่อเพิ่มกำลังพลงานบริการวิชาการฯ
เมื่อเวลา 14.30 น. (4 กุมภาพันธ์ 2563) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมติดตามผลการดำเนินงานและวิเคราะห์ภาระงานของแต่ละตำแหน่ง ณ ห้องเฟื่องฟ้า 2 ชั้น 4 สำนักงานอธิการบดี โดยมี ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้คณะทำงานงานบริการวิชาการฯได้เตรียมข้อมูลภาระงานหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละงานพร้อมทั้งแผนการดำเนินงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
โดย นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ชี้แจงว่า งานบริการวิชาการฯ มีภาระงานใหญ่อยู่ 4 ภาระงาน คือ 1. งานโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งมีโครงการย่อยได้แก่ โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2. โครงการตามพระบรมราโชบาย ได้แก่ โครงการยกระดับสินค้าชุมชน OTOP โครงการแก้ไขความยากจนของประชาชนในเขตชนบท โครงการส่งเสริมความรักความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น และ โครงการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ด้านการอ่านการเขียนและการวิเคราะห์ และโครงการสุดท้ายคือโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่และติดตามประเมินผล 3. งานโครงการตามยุทธศาสตร์ 4.งานโครงการบริการวิชาการตามคำร้องขอ ซึ่งงานบริการวิชาการฯได้แบ่งงานโดยมีผู้ประสานงานประจำโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงานด้านต่างๆ เช่น การเบิกจ่ายพัสดุ การดำเนินงานตามระเบียบการเงินและงบประมาณ ตลอดจนการขออนุมัติโครงการ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าพันธกิจของงานแต่ละงานมากกว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเพียง 8 คนเท่านั้น ดังนั้นจึงมีปัญหาในเรื่องของงานด่วน งานลงพื้นที่ที่จะต้องพบปะกับประชาชน และงานในสำนักงานที่ต้องปรับเปลี่ยนกันลงพื้นที่ตามแผนการดำเนินโครงการ
ด้านรองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของอธิการบดีซึ่งมีหน้าที่หลักคือ งาน พันธกิจสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา พร้อมด้วยงานบริการวิชาการฯ โดยเนื้องานอยากจะลงพื้นที่ด้วยตนเองแต่เนื่องจากมีข้อจำกัดภาระกิจอื่นๆอีกที่ต้องเข้าไปปฏิบัติราชการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ดังนั้นโครงการทุกโครงการจึงอยากให้มีเจ้าหน้าที่งานบริการวิชาการฯร่วมลงพื้นที่กับอาจารย์ตามโครงการที่รับผิดชอบด้วยอย่างน้อย 1 – 2 คน เพราะทุกโครงการที่ดำเนินการลงพื้นที่ในชุมชนเป็นงานในภาพของงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ภาพของคนใดคนหนึ่ง และที่สำคัญเป็นภาพรวมของมหาวิทยาลัยด้วย
อย่างไรก็ตาม ดร.พลกฤต แสงอาวุธ ได้กล่าวต่อไปว่า ได้พิจารณาภาระงานของแต่ละตำแหน่งแล้วซึ่งได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าภาระงานมีมากกว่าจำนวนบุคลากร โดยสังเกตจากบุคลากร 1 คน ต้องทำงาน 3 – 4 งาน เช่น ทำงบประมาณไปด้วย ลงพื้นที่ด้วย พร้อมทั้งดำเนินการเบิกจ่ายรายงานการเดินทางไปราชการอีกด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างควบคุมลำบาก ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยโดยอธิการบดีได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดตั้งงานบริการวิชาการฯเป็น “กอง” ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเข้าใจปัญหา พร้อมกันนั้นการจัดตั้งเป็นกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นจะต้องเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนงานของมหาวิทยาลัยซึ่งจะเป็นมีโครงสร้างที่แข็งแรง และสรรพกำลังที่มีคุณภาพและมีจำนวนมากขึ้นตามพันธกิจ ดังนั้นจึงมอบหมายให้หัวหน้างานบริการวิชาการฯบันทึกข้อความถึงมหาวิทยาลัยเรื่องขออัตรากำลังมาปฏิบัติงานประจำงานบริการวิชาการฯและในส่วนของการจัดตั้งเป็น “กอง” ให้จัดทำโครงสร้างเทียบเคียงกับหน่วยงานที่มีพันธกิจคล้ายกับงานพัฒนาท้องถิ่นเพื่อเสนอมหาวิทยาลัยต่อไป