งานบริการวิชาการฯร่วมโครงการ KM จัดทำแผนปฏิบัติราชการสนง.อธิการบดี ปีงบ 2562 พร้อมอัฟเวอร์ชั่น วิสัยทัศน์ใหม่ แกรนด์กว่าเดิม

…..รักษาการอธิการบดี เชื่อมั่นกิจกรรมเชิงปฏิบัติการนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม  ชี้ชัด! ฝ่ายสนับสนุนมีความสำคัญ เป็นกลไกการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

…..เมื่อเวลา 06.30 น. (3 กุมภาพันธ์ 2561) ผู้บริหาร และบุคลากรสายสนับสนุน ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางไปยัง ชลนภา รีสอร์ท อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเช้าร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานอธิการบดี  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชการแทนอธิการบดี เป็นประธานเปิดการประชุม

…..ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรในสังกัดสำนักงานอธิการบดีได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงานและกำหนดปัจจัยแห่งความสำเร็จของระบบงาน ระบบการตรวจสอบ ระบบประเมินผล และระบบประกันคุณภาพการศึกษา พร้อมทั้งทบทวนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสำนักงานอธิการบดีให้มีความสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของมหาวิทยาลัยซึ่งสามารถวัดผลความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดได้

…..รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชการแทนอธิการบดี ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในโครงการดังกล่าวว่า สำนักงานอธิการบดีเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทุกระบบ ทั้งงานวิชาการ งานวิจัย งานบริการวิชาการแก่สังคม หรืองานอื่นๆตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนงานทั้งหมดนี้สำนักงานอธิการบดีจะเป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ถึงแม้ว่าการบริหารจัดการในระบบอาจไม่ลงตัวบ้าง เพราะขาดความเชื่อมโยง ขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ดังนั้นการจัดกิจกรรมในวันนี้จะทำให้มิติของการบริหารจัดการเป็นไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเจตนารมณ์ในวันนี้ อยากเห็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประสานงานระหว่างกอง มีความเข้าใจในภาระหน้าที่ซึ่งกันและกันสามารถทำงานทดแทนกันได้ นอกจากนี้การจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกันจะเป็นการประสานแผนลดความซ้ำซ้อนลดทอนในเรื่องของเวลา และลดทรัพยากรลง แต่การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

…..รักษาราชการแทนอธิการบดีได้กล่าวปิดท้ายว่า “การที่หน่วยงานได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้อยู่รวมกันในเวลา 2 วัน อาจจะเป็นเวลาที่น้อยสำหรับคนที่ทำงานหนัก แต่ส่วนหนึ่งเป็นเวลาที่ทำให้บุคลากรสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆได้มากยิ่งขึ้น”

…..ในส่วนของกำหนดการการจัดกิจกรรมในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดแผนปฏิบัติราชการฯ ได้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเดินทางมาบรรยายให้ความรู้ และร่วมจัดกิจกรรมอย่างมาย เช่น แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินให้มีพลัง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน การนำเสนอ Best Practice ของแต่ละหน่วยงาน การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อสร้างพลังสู่ความสำเร็จ โดย อาจารย์ธวัชชัย ทีปะปาล หัวหน้าสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นต้น

…..นอกจากนี้  ยังมีกิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อยตามสังกัดกองและตามพันธกิจ เพื่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการ พ.ศ. 2562  ซึ่งกำหนดให้ทุกกองได้ทบทวนพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่จะเกิดขึ้นใน 5 ปีข้างหน้าด้วยประเด็นของความท้าท้ายและสอดคล้อง วิสัยทัศน์ พันธกิจ ของมหาวิทยาลัย

…..โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้รวมกลุ่มระดมความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนและนำเสนอวิสัยทัศน์ ใหม่ซึ่งจากเดิมงานบริการวิชาการฯได้เสนอว่า “เป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย” ปรับเปลี่ยนเป็น 2 ภาษาเป็น “DAS HUB Power of the Land” “เป็นองค์กรชั้นนำในการบริการวิชาการเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน” โดย DAS ย่อมาจากชื่อเต็มของงานบริการวิชาการฯ D คือ development A คือ academic และ S คือ service ส่วน HUB คือ ศูนย์กลาง ทั้งนี้บุคลากรของงานบริการวิชาการฯมีเจตนารมณ์และมีความมุ่งมั่นที่จะให้งานบริการวิชาการเป็นศูนย์รวมในการรับใช้และให้บริการทางวิชาการเพื่อชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีความคิดว่าเมื่อชุมชนถิ่น และหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ได้กล่าวถึงงานบริการวิชาการ ต้องนึกถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นแห่งแรก ซึ่งมีหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนระบบและกลไกในการดำเนินงาน ตามปณิธาน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี “มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินให้เป็นพลัง ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
สมยศ นุ่นจำนงค์, อดิสรณ์ เนาวโคอักษร, อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts