คณะทำงาน “พุมเรียงโมเดล” ร่วมลงพื้นที่ ระดมความคิดแกนนำชุมชน Focus Group 3 พันธกิจหลัก

…..ตกผลึกทางความคิด การท่องเที่ยว – ศิลปะฯ – ผังเมือง ด้านทีม มรส. นำทัพงานบริการวิชาการฯ – สำนักศิลปะและวัฒนธรรม – วิทยาลัยนานาชาติฯ – ดร.นรา ดันสุดกำลัง หวังพุมเรียงโมเดลเป็นจริง

…..เมื่อเวลา 10.00 น. (2 กุมภาพันธ์ 2561) คณะทำงานในโครงการพุมเรียงโมเดล จากมหาวิทยาลัย  ราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำทีมโดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและทีมงาน  จากงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น อาจารย์อนุรัตน์  แพนสกุลและทีมงาน จากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม อาจารย์เกสสิณี  ตรีพงศ์พันธุ์ และทีมงาน จากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว และดร.นรา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนและผังเมืองจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วย นางสาวกัญญารัตน์ แสงสุวรรณ ตัวแทนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมลงพื้นที่เพื่อประชุมระดมความคิดการดำเนินโครงการพุมเรียงโมเดล ณ เทศบาลตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ได้มีนายยอดชาย พันธ์ครุฑ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพุมเรียง และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ

…..เนื่องจากในเดือนมกราคม 2561 คณะทำงานด้านพันธกิจงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่ในตำบลพุมเรียงและร่วมพูดคุยในเรื่องการยกระดับระดับคุณภาพชีวิตโดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวซึ่งคณะทำงานได้แบ่งประเด็นในการนำเสนอตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 โดยจะนำเสนอเรื่องข้อมูลการท่องเที่ยวของตำบลพุมเรียง วิถีชีวิต ศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมด้วยการวางแผนและผังเมือง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มหาวิทยาลัยมีอยู่เดิม ซึ่งจะต้องให้ชาวชุมชนร่วมระดมความคิดเพิ่มเติมข้อมูลที่ขาดหายหรือแนวทางที่อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือและเป็นกลไกในการขับเคลื่อน

…..ทั้งนี้ การประชุมระดมความคิดที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลพุมเรียง ได้มีกลุ่มแกนนำชุมชนซึ่งประกอบประธานชมรมผู้สูงอายุ ประธานกลุ่มท่องเที่ยว ประธานกลุ่มวัฒนธรรม กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน  ให้ความสนใจและเข้าการประชุมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี คุณจักรกฤษณ์ เอ่งฉ้วน ผู้ช่วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้เกียรติร่วมในการแสดงความคิดเห็นแนวทางทางการดำเนินงานในอนาคตด้วย

…..นายยอดชาย พันธ์ครุฑ  นายกเทศมนตรีเทศบาลอำเภอพุมเรียง ได้กล่าวถึงโครงการพุมเรียงโมเดลที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ว่า ชุมชนพุมเรียงขาดความรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวแบบจริงจัง ซึ่งเบื้องต้นได้ร่วมพูดคุยกับทางคณะอาจารย์และทีมงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดังนั้นการประชุมในวันนี้จึงอยากให้ชาวชุมชนทุกท่านร่วมกันนำเสนอและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ให้กับคณะทำงานเพื่อนำผลที่ได้นำไปปรับปรุง อย่างไรก็ตามขอให้ชาวพุมเรียงระลึกเสมอว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนเพราะบุคลากรที่มีคุณภาพจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

…..ด้าน ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้ให้ความเห็นในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นตำบลพุมเรียงว่า การสร้างพุมเรียงโมเดล เป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายที่ทีมราชภัฏสุราษฎร์ธานีต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งคณะทำงานทุกท่านมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะดำเนินการให้สำเร็จและเป็นพุมเรียงโมเดลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้เมื่อผลของการดำเนินงานออกมาอย่างสมบูรณ์และเด่นชัดก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการของบประมาณจากหน่วยงานๆที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน

…..ต่อข้อซักถามเรื่องความรู้สึกเมื่อโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ผู้ช่วยอธิการบดีฯได้กล่าวว่า คณะทำงานต้องปลาบปลื้มใจและรู้สึกอิ่มเอมใจเป็นธรรมดาซึ่งตอนนี้พยายามร่วมกันพูดคุยกันภายในทีมให้มากที่สุดเพื่อผลที่ได้ตามที่เรามุ่งหวัง โดยส่วนตนและคณะทำงานไม่มีค่าตอบแทนใดๆและไม่ต้องการอะไรจากชาวชุมชนนอกจากรอยยิ้มและความสุขของชาวพุมเรียง สุดท้ายนี้ขอให้เชื่อมือและเชื่อมั่นในคณะทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ปวารณาตนไว้ว่าจะสร้างพลัง สร้างศรัทธา และใช้สรรพกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ให้กับชาวพุมเรียง ดังปณิธาณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน เพื่อสร้างแผ่นดินให้มีพลัง

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts