ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการระดมตัวแทนหน่วยงานเร่งหารือมาตรการแก้ปัญหาขยะ

พร้อมเสนอทางออกให้มหาวิทยาลัย ชี้ชัด 4 หน่วยงานต้องร่วมด้วยช่วยแก้ วางแผนปรับจุดทิ้งเพิ่มชุดถังฯ หนุนแคมเปญรณรงค์สร้างจิตสำนึกนศ. ทิ้งให้ตรงถังแยกให้ตรงประเภท หวังเป็นโมเดลต่อยอดให้กับชุมชนอื่นๆ

…..เมื่อเวลา 14.00 น. งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมหารือเรื่องการบริหารจัดการขยะเพื่อต่อยอดสู่พื้นที่ชุมชนขุนทะเล ณ ห้องประชุมวิภาวดี ชั้น 2 อาคารกาญจนาภิเษกอนุสรณ์ ทั้งนี้ได้มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองพัฒนานักศึกษา กองอาคารสถานที่ฯ ฝ่ายสื่อสารองค์กร และตัวแทนจากตำบลขุนทะเลเข้าร่วมประชุมและระดมความคิดเห็น

[envira-gallery id=”4608″]

…..โดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ประธานที่ประชุมได้เผยว่า จากกรณีปัญหาการบริหารจัดการขยะที่ยังไม่มีระบบการจัดการที่ดี ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนนั้น ได้ทราบในเบื้องต้นจากประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เบื้องต้นมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับชาวบ้านในการแก้ไขในระยะแรกแล้ว

…..ผศ.พจนีย์ สุวัฒนานุกร รองผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และภูมิทัศน์ ได้ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดตั้งถังขยะแบบแยกประเภทของขยะไว้ในแต่ละจุดคือ ถังขยะแห้ง หรือขยะที่นำมารีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก เป็นต้น ถังขยะเปียก คือ ขยะที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ ใบไม้ พืช ผัก เป็นต้น และถังที่มีพิษต่อสิ่งแวดล้อม คือ ไม่สามารถรีไซเคิลได้และมีสารเคมีที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอร์รี่ กระป๋องยาฆ่าแมลง เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่จะนำมาแยกประเภทของขยะก่อนโดย ขยะเปียกจะใส่ถุงและมัดเชือกสีแดง ขยะใบไม้หรือขยะแห้งจะมัดเชือกสีเขียว แล้วจึงนำไปพักไว้ในที่พักขยะตรงข้ามกับอาคารสุนทรียศาสตร์(ชั่วคราว) ก่อนจะทำการขนย้ายโดยผู้รับจ้างซึ่งได้ดำเนินการจ้างในราคา 8,800 บาทต่อวัน ซึ่งมีขยะประมาณ 5 ตัน

…..โดยผู้ช่วยอธิการบดีฯ ได้ให้ตัวแทนหน่วยงานได้เสนอประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งสรุปได้ว่า
ประเด็นที่หนึ่ง คือควรลดจำนวนถังขยะให้เหลือแค่ 2 ถัง ต่อ 1 จุด จากเดิมมีจำนวน 3 ถัง ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการแยกประเภท และกำหนดจุดวางถังให้ชัดเจน พร้อมทั้งเพิ่มชุดถังให้เพียงพอต่อจำนวนขยะ คือ บริเวณอาคารกาญจนาภิเษกอนุสรณ์ จากจำนวน 2 ชุด เพิ่มเป็น 3 ชุด บริเวณกองพัฒนานักศึกษา จากจำนวน 1 ชุด เพิ่มเป็น 2 ชุด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากจำนวน 1 ชุด เพิ่มเป็น 2 ชุด และ บริเวณโรงยิมมหาวิทยาลัย จากจำนวน 1 ชุด เพิ่มเป็น 2 ชุด

ประเด็นที่ 2 คือ ปรับเปลี่ยนรายละเอียดข้อความการแยกประเภทขยะ โดยปรับมาเป็นลักษณะของรูปสัญลักษณ์การแยกประเภทขยะเปียกและขยะแห้งเพราะเป็นจุดเด่นเข้าใจได้ง่าย

ประเด็นที่ 3 คือ การทำประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกให้กับนักศึกษา

…..โดยที่ประชุมมอบหมายให้ฝ่ายสื่อสารองค์กรร่วมกับกองพัฒนานักศึกษาดำเนินการดังกล่าวโดยการสร้างแคมเปญรณรงค์การทิ้งและแยกประเภทขยะให้กับนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย

…..นอกจากนี้ หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นได้เสริมว่า การปลูกจิดสำนึกมีลักษณะเป็นนามธรรมซึ่งอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จต่อการดำเนินงาน ดังนั้นการปลูกจิตสำนึกอย่างเดียวคงไม่พอ โดยต้องควบคู่ไปกับการใช้มาตรการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะต้องไม่ส่งกระทบต่อส่วนรวม และกฎระเบียบ อาจจะใช้การประชาสัมพันธ์หรือกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การใช้สื่อโซเชียลสนับสนุนการปฏิบัติที่ถูกต้องของนักศึกษา ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและเป็นแรงเสริมให้กับนักศึกษาคนอื่นๆปฏิบัติตาม หรืออาจติดโลโก้รณรงค์ตามร้านค้าอาหารภายในมหาวิทยาลัย

…..ขณะที่ นางสาวกนกรัตน์ ศรียาภัย ตัวแทนจากฝ่ายสื่อสารองค์กร ได้นำเสนอในที่ประชุมว่า ควรให้อาจารย์ เจ้าของร้านค้าในมหาวิทยาลัย ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย เช่น การร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์รณรงค์กิจกรรมดังกล่าว นอกจากนี้รูปแบบที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์จะต้องเป็นไปในทางบวก เช่น การโพสท์ภาพนักศึกษาที่นำแก้วน้ำไปทิ้งในถังแยกประเภทขยะอย่างถูกต้อง แล้วนำไปโพสในเฟสบุ๊คของมหาวิทยาลัย โดยที่ไม่ให้นักศึกษารู้ตัวเป็นการสร้างความประหลาดใจ ซึ่งการทำกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาคนอื่นๆปฏิบัติตาม

…..นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ร้านค้าในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ สำนักจัดการทรัพย์สินจะเป็นผู้ควบคุมดูแลดังนั้นจึงควรให้หน่วยงานดังกล่าวร่วมสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งซุ้มร้านค้าที่คณะต่างเป็นผู้ดูแลจะต้องร่วมดำเนินกิจกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงได้ให้ข้อสรุปว่าหน่วยงานที่ต้องเขาร่วมช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ คือ 1. สำนักทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ 2. คณะทุกคณะที่มีร้านค้าหรือร้านอาหารที่อยู่ในความควบคุมดูแล 3. กองพัฒนานักศึกษาที่จะต้องคัดเลือกตัวผู้นำและกลุ่มนักศึกษาแต่ละคณะร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
หลังจากได้ข้อสรุปการดำเนินการจัดการขยะเบื้องต้นในมหาวิทยาลัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องการลดปริมาณขยะและการแยกประเภทขยะ เพื่อจำกัดปริมาณขยะไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ชุมชนขุนทะเล

…..โดยหัวหน้างานสถานที่และจัดตกแต่งได้ชี้แจงว่า ตอนนี้มีจำนวนขยะอยู่ประมาณ 5 – 6 ตันต่อวันโดยประมาณซึ่งจะแยกเป็นสัดส่วน คือ ขยะใบไม้ มีจำนวน 0.5 ตัน ขยะขายได้ มีจำนวน 1.5 ตัน และขยะทิ้ง มีจำนวน 4 ตัน ซึ่งในส่วนของขยะใบไม้จะใช้วิธีการบด ซึ่งเครื่องจักรในการบดมีเพียง 1 เครื่องเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อจำนวนใบไม้จึงทำให้เกิดปัญหาขยะใบไม้ที่เพิ่มขึ้นอีกทั้งเจ้าหน้าที่ในการคัดแยกขยะที่มีจำนวนน้อยอันเป็นผลกระทบต่อปัญหาการจัดการขยะด้วย

…..ที่ประชุมได้สรุปประเด็นที่ต้องดำเนินการเสนอมหาวิทยาลัยในหลายประเด็น คือ 1. บริเวณพื้นที่พักใบไม้นั้น มีพื้นที่ไม่เพียงพอกับจำนวนใบไม้ในแต่ละวัน จึงเสนอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาพื้นที่หลังสวนดอกไม้หอม บริเวณคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.มหาวิทยาลัยควรจัดหาพื้นที่หรือโรงคัดแยกขยะเพื่อให้สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ 3. เสนอให้กองพัฒนานักศึกษาจัดนักศึกษาทำหน้าที่คัดแยกขยะ จำนวน 10 คน และ 4. ดำเนินการจัดซื้อเครื่องบดขยะ จำนวน 2 เครื่อง

…..ทั้งนี้ได้มอบหมายให้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นจัดทำเอกสารรายละเอียด ต้นน้า กลางน้ำและปลายน้ำเรื่องสัดส่วนของจำนวนขยะ การแยกขยะ และการเพิ่มมูลค่าของขยะ นอกจากนี้ ยังนำโครงการการจัดการขยะของ ดร.พงษ์ศักดิ์ นพรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มาช่วยในการนำเทคนิควิธีการลดขยะ การย่อยสลายขยะให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ พร้อมทั้งการเพิ่มมูลค่าของขยะให้เป็นทุนสนับสนุนการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

…..ด้าน คุณอัมรา รักษา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตำบลขุนทะเล ที่ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยไม่ปล่อยให้ชาวขุนทะเลเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว การแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างจิตสำนักและแนวปฏิบัติที่ดีให้กับนักศึกษาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะตัวแทนของชุมชนขุนทะเลจึงขอขอบคุณที่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างสูง

…..ขณะที่ผู้ช่วยอธิการบดีฯได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เร่งดำเนินการอย่างจริงจังโดยได้ระดมความคิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งทางผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้รับทราบในเชิงประจักษ์แล้ว และขอให้เชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพราะถือได้ว่ามหาวิทยาลัยกับชาวชุมชนขุนทะเลเป็นพี่น้องกัน นอกจากนี้หากโมเดลดังกล่าวประสบความสำเร็จก็จะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างแนวทาง “ธนาคารขยะ” ที่มหาวิทยาลัยกับชุมชนร่วมกันทำ และจะเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นต่อไปในอนาคต

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts