งานบริการวิชาการฯร่วมหารือคณะพยาบาลฯพร้อมผู้นำชุมชนขุนทะเล ผุดโครงการ รร.ผู้สุงอายุในชุมชน แบบเชิงรุก!

ด้านผช.คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มั่นใจโมเดลเชิงรุก ลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนนำองค์ความรู้ หวังยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนขุนทะเล และเป็นแนวปฏิบัติที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นในอนาคต

…..เมื่อเวลา 13.30 น. (7 ธันวาคม 2560) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดำเนินการจัดประชุมเพื่อหารือเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชน โดยมี ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยอาจารย์วรรณา กุมารจันทร์ ผู้ช่วยคณบดีศูนย์สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และอาจารย์วีณา ลิ้มสกุล รองคณบดีฝ่ายแผนงานและประกันคุณภาพการศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีผู้นำหมู่บ้านหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 10 เข้าร่วมประชุมในเรื่องดังกล่าวด้วย

…..ทั้งนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวว่า เนื่องจากได้มีโอกาสหารือกับคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เรื่องหลักสูตรโรงเรียนผู้อายุ ซึ่งก่อนหน้านั้นคณะพยาบาลฯได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วแต่เป็นโครงการที่ให้ผู้สูงอายุในท้องถิ่นเข้ามาสมัครเรียนกับคณะด้วยตนเอง แต่โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้มหาวิทยาลัยฯ โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นและคณะพยาบาลฯ จะดำเนินการในรูปแบบเชิงรุก คือการลงพื้นที่ชุมชนนำองค์ความรู้ไปอบรมและจัดการเรียนการสอนให้กับประชาชนในหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7 และหมู่ที่10 เพราะได้วิเคราะห์จำนวนผู้สูงในชุมชนแล้วมีจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถเดินทางเข้ามารับบริการและร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนกับมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด ด้วยเหตุผล เช่น ปัญหาการเดินทาง, ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น ดังนั้น งานบริการวิชาการฯจึงขอความร่วมมือกับบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพผู้สูงอายุจากคณะพยาบาลศาสตร์ ช่วยเหลือในการนำองค์ความรู้เข้าไปสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

…..ด้าน อาจารย์วรรณา กุมารจันทร์ ผู้ช่วยคณบดีศูนย์สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้กล่าวว่า คณะพยาบาลฯมีความยินดีที่จะร่วมทำกิจกรรมจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชนหมู่บ้าน และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะดำเนินการเชิงรุก ซึ่งเป็นเจตนารมย์ที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่เริ่มมีหลักสูตร เพราะโดยเชิงนโยบายแล้วไม่ควรปฏิบัติงานแบบตั้งรับอยู่กับที่เพราะอาจทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่คาดหวังไว้ ทั้งนี้ หลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ คณะพยาบาลฯได้ดำเนินการจัดทำและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องสุขอนามัย เช่นสุขภาพจิต สุขภาพกาย รวมไปถึงการบริโภคคุณค่าของอาหารในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุและคนในชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการระยะยาวและเชื่อมโยงกับหน่วยงานหลายภาคส่วน

…..นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมหารือและพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานโดยสรุปได้ว่า 1. ให้ผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้าน คัดเลือกแกนนำจำนวนหมู่บ้านละ 5 คนซึ่งมีศักยภาพเป็นตัวแทนในการประสานงานและบริหารจัดการในเรื่องการจัดการเรียนการสอน 2. ให้แกนนำชุมชนดังกล่าวคัดเลือกผู้มีจิตอาสาเพื่อฝึกอบรมหลักสูตรผู้สูงอายุกับคณาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน 3. คณะกรรมการซึ่งได้แก่งานบริการวิชาการ คณาจารย์คณะพยาบาลฯ กลุ่มจิตอาสาและกลุ่มผู้สูงอายุทำความเข้าใจร่วมกับในการจัดรูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอน

…..พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน และในแต่ละรุ่นควรมีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ควรเกิน 40 คน เพราะสะดวกต่อการดูแลและให้ความรู้ความเข้าใจอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ดังกล่าวคือมีอายุ 55 ขึ้นไป สามารถอ่านออกเขียนได้ และได้รับความยินยอมจากสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้จะต้องไม่มีโรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

…..ขณะที่นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่อง สถานที่และวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งสรุปได้ว่า สถานที่ควรเป็นศาลาประชาคมประจำหมู่บ้านเพราะสะดวกในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ซึ่งมีอยู่เดิมในชุมชนและสะดวกในการเดินทางของผู้สูงอายุในชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้หัวหน้างานบริการฯได้กล่าวเสริมว่า การดำเนินงานให้ความรู้หรือทำกิจกรรมควรจัดแบ่งกันเป็นรุ่น เช่น รุ่นที่1 คือหมู่ที่ 10 และรุ่นที่ 2 คือหมู่ที่ 7 โดยแกนนำและจิตอาสา ทั้ง 2 รุ่นสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลคนในชุมชนของตนเองได้นอกจากนี้ยังหวังไว้ว่ารูปแบบการดำเนินงานเชิงรุกของการดูแลผู้สูงอายุและเป็นแนวปฏิบัติที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นต่อไป

…..ด้านผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 ชุมชนได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์พัฒนาให้กับชุมชนขุนทะเลตลอดมาตั้งแต่เริ่มต้นที่ได้ร่วมกันทำงานหลายๆโครงการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ฯไม่เคยหยุดนิ่ง และไม่นิ่งดูดายต่อบริบทของชุมชน ซึ่งโครงการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชนขุนทะเล โดยทางมหาวิทยาลัยเข้าไปลงพื้นที่และเป็นพี่เลี้ยงในการอบรมให้ความรู้แก่แกนนำและจิตอาสาของชุมชนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากและเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ซึ่งหากผู้สูงอายุเหล่านี้ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน จะทำให้พัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

…..ต่อข้อซักถามในที่ประชุมเรื่องกำหนดการและปฏิทินการดำเนินโครงการฯ ที่ประชุมได้สรุปว่า ในวันที่ 18 ธันวาคม 2560 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการฯและคณะพยาบาลศาสตร์จะนัดหมายทำความเข้าใจกับแกนนำจำนวน 5 คน และผู้นำชุมชน ถึงกระบวนการการดำเนินงานโครงการดังกล่าวฯพร้อมทั้งกำหนดปฏิทินและระยะเวลาการทำกิจกรรม โดยจะจัดประชุมร่วมหารือในเรื่องดังกล่าว ณ ห้องพุทธิชีวิน คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งกำหนดการในการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุจะเริ่มขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

…..ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวทิ้งท้ายในการหารือว่า “โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนในวัยเกษียณอายุ เพราะผลที่ได้คือ ความสุข ของผู้ให้และผู้รับ โดยส่วนตัวรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คณะพยาบาลฯได้เล็งเห็นความสำคัญร่วมกันและมีเจตนารมย์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ อย่าคิดว่าเราได้อะไร แต่จงคิดว่าเราให้อะไรกับชุมชนท้องถิ่น”

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts