งานบริการวิชาการฯ จัดประชุมแกนนำชุมชนขุนทะเลชี้แจงผลการดำเนินงาน ปี 2560 พร้อมเดินหน้าแผนการต่อยอด ปี 2561

ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ย้ำมรส.คือ มหาวิทยาลัยฯของชุมชน ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต และยึดมั่นในปณิธานมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน

…..เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ได้จัดประชุมโครงการแกนนำสายใยรักแห่งครอบครัวและโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปีงบประมาณ 2561 ณ ห้องเรียนรู้ 5

อาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยมีแกนนำเดินทางเข้าร่วมประชุมจำนวน 10 หมู่บ้าน เพื่อชี้แจงผลการดำเนินงาน ในปี 2560 และแผนการปฏิบัติการในการต่อยอดผลการดำเนินงาน ในปี 2561 ด้วย

…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ประธานที่ประชุม ได้กล่าวว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดโครงการแกนนำสายใยรักแห่งครอบครัวและโครงการเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนขุนทะเลเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยฯ ดังนั้น จึงอยากจะขับเคลื่อนและเป็นกลไกให้ชุมชนเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จของการจัดทำผลิตภัณฑ์และต้องการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบให้สูงขึ้น

…..ด้าน นายอรุญ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้เปิดเผยว่าจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยและชุมชนได้ร่วมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายทั้งโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวและโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งที่ประชุมวันนี้จะมีการสรุปผลการดำเนินงานและแผนการดำเนินงานต่อยอด ในปี 2561 โดยที่ผ่านมามีผลผลิตที่ออกมาอย่างมากมายและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และมีแผนการวางจำหน่ายเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดคือตลาดนัดมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และสำนักการจัดการทรัพย์สิน

…..ขณะที่แกนนำในที่ประชุมได้ให้ความคิดเห็นว่า ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามที่ได้อบรมและร่วมประชุมทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จชุมชนสามารถปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อบริโภคเองและสามารถจำหน่ายได้ตามท้องตลาด เช่น ใบมะกรูด ชะอม โหระพา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปจำหน่ายที่ตลาดนัดในหมู่บ้านและบริเวณท้องถิ่นใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีแม่ค้าในตลาดมารับซื้อถึงบ้านและยังสามารถแจกจ่ายให้กับครัวเรือนอื่นๆได้อีกด้วย ในส่วนของผลิตภัณฑ์อื่นเช่น น้ำยาเอนกประสงค์ น้ำมันเหลือง ชุมชนสามารถทำเป็นของฝาก และของใช้ในการงานต่างๆ

…..นอกจากนี้แกนนำชุมชนขุนทะเลได้ เผยถึงความต้องการในการต่อยอดและขอความอนุเคราะห์ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชน เช่น การหาช่องทางการตลาด Online เทคนิคการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ “จากที่ได้นำวัตถุดิบมาจำหน่ายตามท้องตลาดซึ่งเป็นพื้นที่แคบๆ ชุมชนไม่สามารถเปิดช่องทางการตลาดได้มาก ดังนั้นจึงอยากให้มหาวิทยาลัยฯช่วยคิดหาแนวทางดังกล่าว”นอกเหนือจากนี้ยังมีความคิดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การทำปลาดุกแดดเดียว ปลาดุกร้า และไข่เค็มสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งชาวชุมชนต้องการอบรมเพื่อให้ได้ความรู้เรื่องการแปรรูปอาหาร การถนอมอาหาร และการทำบรรจุภัณฑ์ ขณะที่แกนนำชุมชนหมู่ 1 ได้กล่าวเสริมว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอต่อการเพิ่มมูลค่าและช่องทางการตลาดจึงอยากนำเสนอว่าควรจัดทำเว็บไซต์และสร้างแบรนด์หรือโลโก้ของชุมชนขุนทะเล เพื่อเป็นการประประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ วิธีการจัดทำและจำหน่ายที่เป็นรูปแบบของฝากหรือสั่งซื้อได้ตามเว็บไซต์

…..ด้าน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการฯได้ให้แนวคิดในการช่วยเหลือว่า “เรื่องของการจัดทำช่องทางการตลาด การสร้างแบรนด์ หรือการทำบรรจุภัณฑ์ ในเรื่องต่างที่กล่าวมา มหาวิทยาลัยฯจะเป็นผู้ประสานให้ทั้งหมดเพราะทุกสรรพกำลังเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชุมชนตลอดเวลา เช่น ช่องทางการมหาวิทยาลัยฯจะเชิญคณาจารย์ผู้มีทักษะและมีความเชียวชาญจากคณะวิทยาการจัดการมาอบรมให้ความรู้ และวิธีการแปรรูปอาหาร การถนอมอาหาร จะประสานไปยังคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในส่วนของการทำเว็บไซต์เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่มหาวิทยาลัยฯสนับสนุนและเร่งดำเนินการมาตลอด ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ชุมชนขุนทะเลทั้ง 10 หมู่บ้านส่งตัวแทนชุมชนละ 2 คนเพื่อเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำเว็บไซต์ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดโครงการดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2560 นี้ ทั้งนี้เพื่อให้ชาวชุมชนสามารถอัพเดตรูปภาพของผลิตภัณฑ์ได้ตลอดเวลาและอยากให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็งต่อยอดและยืนหยัดได้ด้วยตนเอง และหากเกิดปัญหามหาวิทยาลัยจะเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลและช่วยเหลือแก้ปัญหา โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวขอเน้นย้ำว่ามหาวิทยาลัยจะไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น”

…..ด้านหัวหน้างานบริการวิชาการและพัฒนาท้องถิ่น ได้ให้ข้อสรุปว่า ขอความร่วมมือให้ชุมชนส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดทำเว็บไซต์จำนวน 2 คน ในวันที่ 17 พฤศจิกายน นี้และทางงานบริการวิชาการฯจะขอกำหนดวันการประชุมในครั้งต่อไปในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดละกำหนดแผนปฏิบัติการการฝึกอบรมในเรื่องต่างๆต่อไป

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts