ผู้แทนรัฐวิสาหกิจชุมชนฯ เข้าพบผช.ฝ่ายบริการวิชาการ – UBI หวังให้ มรส. สนับสนุนองค์ความรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนบางใบไม้

…..ดร.สมปราชญ์ อ้าแขนรับ เผยเจตนารมณ์ตรงกัน ยันมรส.พร้อมนำทุกสรรพวิชาช่วยเหลือสุดกำลัง ดีเดย์ 3 มี.ค. 61 ทีมบริการวิชาการฯกอดคอเครือข่ายลงพื้นที่ สวนลุงสงค์ เพื่อสำรวจความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

…..เมื่อเวลา 13.00 น. ผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชีววิถีลุ่มน้ำตาปี ได้เดินทางมาเข้าพบ ดร. สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ โดยการประสานงานจากจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI เพื่อร่วมหารือเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในมิติต่างๆ

…..ทั้งนี้ นางสาวณัฐธิญาณี ธัญญลักษณ์ เลขานุการวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชีววิถีลุ่มน้ำตาปี ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินงานและความต้องการที่จะให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีช่วยเหลือสนับสนุนว่า ทางรัฐวิสาหกิจชุมชนฯได้ดำเนินการเป็นผู้ประกอบกิจการส่งเสริมสินค้า OTOP ของชุมชนในตำบลบางใบไม้ โดยเริ่มจากการน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และได้ขยายการผลิตเป็นโรงงานเพื่อต่อยอดการผลิตเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทางวิสาหกิจชุมชนฯ ยังมีความคิดที่จะยกระดับแหล่งท่องเที่ยวตามวิถีชุมชนบางใบไม้ โดยการพัฒนาวัตถุดิบจากธรรมชาติเช่น ปุ๋ยอินทรีย์ การต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าจากท้องถิ่น รวมทั้งการริเริ่มแหล่งที่พักโฮมสเตย์ด้วย  อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีองค์ความรู้และมีหน่วยงานสนับสนุนในมิติต่างๆ จึงได้ประสานมายัง คุณฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพื่อขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ทราบว่าเป็นพันธกิจของงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น

…..ด้าน ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงกระบวนการและการดำเนินงานของงานบริการวิชาการฯ ว่า การที่ผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชีววิถีลุ่มน้ำตาปี ได้เข้ามาร่วมพูดคุยถึงกระบวนการทำงานของหน่วยงานและเจตนารมณ์ที่จะให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือ ถือว่าเป็นเจตจำนงที่ตรงกันและมีแนวคิดเดียวกันในการที่จะช่วยเหลือยกระดับคุณภาพวิถีชีวิตของชาวชุมชนโดยการต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยการแปรรูปผลผลิต ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยช่วยเหลือในการนำองค์ความรู้ไปสนับสนุนพัฒนา ด้วยวิธีการผลิตหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการยกระดับแหล่งท่องเที่ยว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนอย่างแท้จริง

…..อย่างไรก็ตาม การที่จะเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชน ทางมหาวิทยาลัยและทีมงานจะต้องเข้าไปพูดคุย และสำรวจความต้องการที่ชุมชนอยากให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลืออย่างจริงจัง และหัวใจหลักที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จคือความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงกระบวนการต่างๆที่จะไม่ทำให้วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนไป ทั้งนี้ทางบริการวิชาการฯได้กำหนดทีมงาน เครือข่ายงานบริการวิชาการที่จะร่วมลงพื้นที่ตำบลบางใบไม้ในวันที่ 3 มีนาคม 2561 นี้ ซึ่งมีหน่วยงานที่ต้องประสานคือ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ตัวแทนจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ตัวแทนจากวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การตลาดจากคณะวิทยาการจัดการ คณะพยาบาลศาสตร์  สถาบันวิจัยและพัฒนา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  และดร.นรา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำแผนและผังเมือง

…..เมื่อสอบถามผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการถึงเหตุผลที่จะต้องนำทีมเครือข่ายลงพื้นที่เกือบทุกหน่วยงานว่า “เนื่องจากเป็นเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างจริงจังในทุกมิติดังนั้นจึงต้องประสานความร่วมมือ และรวมพลังกันทุกฝ่ายตามปณิธานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินให้เป็นพลัง ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดร.สมปราชญ์ กล่าวทิ้งท้าย

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ท้ิงปากถ้ำ  ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts