งานบริการวิชาการฯ ลงพื้นที่ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการบูรณาการศาสตร์ในประเด็น “มะพร้าว” ตามข้อเสนอแนะโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ผช.ฝ่ายบริการวิชาการ เผย เจาะลึกการเลี้ยงดู “ลิง” ผู้เชี่ยวชาญการเก็บมะพร้าว หวังเป็นฐานความรู้ถ่ายทอดไปยังคนรุ่นหลัง เป็นอีกหนึ่งในกระบวนการองค์ความรู้ของมะพร้าว
…..เมื่อเวลา 14.00 น. (29 ธันวาคม 2560) ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ พร้อมด้วยอาจารย์ธาตรี คำแหง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปยัง ต.คลองน้อย อ.เมืองฯ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเลี้ยงดูและฝึกหัดลิงที่ใช้ขึ้นมะพร้าว ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยที่จะศึกษามะพร้าวอย่างครบวงจร
…..สืบเนื่องจากมติที่ประชุมอนุกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 มติที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการหาจุดเน้นตามธรรมชาติในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำมาบูรณาการศาสตร์ระหว่างหน่วยงานเข้าด้วยกัน และเพื่อตอบโจทย์แผนการดำเนินงานในปี 2561 โดยมีความเห็นร่วมกัน ในประเด็นของการนำมะพร้าวมาบูรณาการศาสตร์เพราะเป็นทั้งพืช สมุนไพร และผลไม้ของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและยังสามารถนำทุกส่วนของมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้ศึกษามะพร้าวอย่างครบวงจร
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าวว่า “ตามที่มหาวิทยาลัยได้รับคำแนะนำจากคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้ศึกษามะพร้าวอย่างครบวงจร ดังที่ได้เคยเรียนทุกท่านไปก่อนหน้านี้นั้น เรื่องหนึ่งที่มีส่วนสำคัญและเป็นองค์ความรู้ที่ควรรักษาไว้คือ การเลี้ยงลิงเพื่อใช้ขึ้นมะพร้าว เพราะหากไม่มีการรวบรวมและขาดการถ่ายทอดไปยังคนรุ่นหลัง ภูมิปัญญานี้ก็จะสูญสิ้นไปตามความผันเปลี่ยนของเวลา โดยหลังจากนี้ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นจะได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นฐานความรู้ให้กับลูกหลานต่อไปในอนาคต ร่วมกับประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวในทุกมิติ”
…..ทั้งนี้จากข้อสรุปที่ประชุม (13 ธันวาคม 2560) ได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานดำเนินการแบ่งกลุ่มออกเป็น 8 ประเด็นย่อยคือ กลุ่มการบริการและการท่องเที่ยว กลุ่มการตลาดออนไลน์ กลุ่มอาหาร กลุ่มภูมิปัญญา กลุ่มองค์ความรู้ กลุ่มสมุนไพร สุขภาพและความ กลุ่มเศรษฐกิจและการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้ง กลุ่มอื่นๆ โดยได้กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ให้ดำเนินการเขียนโครงการบริการวิชาการเกี่ยวกับ “มะพร้าว” ตามศาสตร์ต่างๆของตน โดยต้องสอดคล้องกับประเด็นที่ได้รับมอบหมาย และส่งโครงการมายังงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อการกำหนดแผนและปฏิทินการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2561 ต่อไป
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี