งานบริการวิชาการฯจับมือเครือข่าย ร่วมลงพื้นที่ หมู่ 7 ขุนเล หวังแปรรูป ผลิตภัณฑ์ชุมชน ปลาดุกร้า ขึ้นห้างสรรพสินค้า

…..UBI ตอบรับพร้อมดันเต็มที่ ด้าน แม่งานสายวิทย์ เตรียมจัดอบรมการแปรรูปปลาดุกร้า ให้ได้มาตรฐาน ภายใต้ “แบรนด์ขุนเล”

…..เมื่อเวลา 12.45 น. (7 กุมภาพันธ์ 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นและคณะ พร้อมด้วยผู้จัดการและเจ้าหน้าที่จากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และดร.สุพรรณิการ์ ศรีบัวทอง รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางไปยังศาลาประชาคมหมู่ที่ 7 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้นำชุมชนและแกนนำหมู่บ้านให้การต้อนรับ

…..ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นได้ดำเนินการต่อยอดในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยเริ่มจากการประชุมทำความเข้าใจผู้นำชุมชนและกลุ่มแกนนำชุมชนทั้ง 10 หมู่บ้านเพื่อจัดกิจกรรม 1หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะต้องกำกับติดตาม และกำหนดแผนการดำเนินงานในแต่ละหมู่บ้าน

…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดัฝ่ายบริการวิชาการ เผยว่า งานบริการวิชาการฯและตัวแทนจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI คุณฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย ดร.สุพรรณิการ์ ศรีบัวทอง รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและบริการวิชาการ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางมาเพื่อลงพื้นที่ ในหมู่ที่ 7 จากที่เคยได้ประชุมหารือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของแต่ละหมู่บ้านและได้หาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยการแปรรูปซึ่งจะต้องใช้องค์ประกอบหลายส่วนที่จะให้การดำเนินงานสำเร็จไปได้ อย่างไรก็ตาม ผู้นำชุมชนและชาวบ้านหมู่ที่ 7 ได้เสนอแนวคิดในการแปรรูปปลาดุกที่เลี้ยงไว้ในพื้นที่ครัวเรือน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าและสามารถเก็บรักษาเพื่อการบริโภคไว้ได้นาน ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะทำเป็นปลาดุกร้า ซึ่งสรุปประเด็นลำดับขั้นตอนได้ว่า 1. ชาวบ้านจะต้องรวมกลุ่มให้มั่นคง เพื่อเป็นอำนาจในการต่อรองเรื่องของงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน 2. เมื่อได้ผลิตภัณฑ์แล้วจะต้องไม่เหมือนกับสินค้าที่วางขายทั่วไป นั้นคือ รสชาติ และคุณภาพถูกหลักอนามัยที่มหาวิทยาลัยได้รับรองแล้ว 3. พัฒนาเรื่องของบรรจุภัณฑ์ โดยศูนย์UBI จะเป็นที่ปรึกษาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและตรงกับลักษณะของวัตถุดิบภายใต้แบรนด์ “ขุนเล” รองรับมาตรฐานที่จะนำขึ้นเป็นสินค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในอนาคต 4. ผลิตภัณฑ์ปลาดุร้าจะต้องเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและทั่วโลก โดยการใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ เช่นเว็บไซต์ /face book

…..ด้าน นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนยาท้องถิ่น ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานจากการได้ร่วมหารือกับผู้นำชุมชนและกลุ่มแกนนำชุมชนหมู่บ้านว่า การแปรรูปปลาดุกที่ชาวบ้านได้เลี้ยงไว้เพื่อเป็นสินค้าในหมู่บ้าน จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานและคุณภาพเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการแปรรูปให้ได้มาตรฐาน ซึ่งประกอบไปด้วยความสะอาด ปราศจากสารที่มีอันตรายต่อร่างกายและสภาพแวดล้อม ดังนั้นงานบริการวิชาการฯจึงขอความอนุเคราะห์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการนำองค์ความรู้มาช่วยในการแปรรูป และให้ความรู้กับชาวบ้านที่ต้องการทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ได้กำหนดวันในการอบรมเชิงปฏิบัติการในวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีกลุ่มชาวบ้าน จำนวน 20 – 25 คน เข้ารับการอบรม ณ อาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

…..ทั้งนี้ ผลจากการร่วมหารือตอนท้าย ให้ชาวบ้านนำปลาดุกที่เลี้ยงด้วยบ่อดิน และบ่อปูนมาทั้ง 2 ชนิดเพื่อพิจารณาถึงรสชาติและความแตกต่างของเนื้อปลาดุกหลังจากการแปรรูป นอกจากนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฯได้กล่าวถึงกิจกรรมในอนาคตของชุมชนขุนทะเลทั้ง 10 หมู่ ในเรื่องของการอบรมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง หรือ CPR เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ภาวะการหมดสติจากโรคประจำตัว หรือเหตุการณือื่นที่ไม่คาดคิด ซึ่งงานบริการวิชาการฯจะประสานไปยังคณะพยาบาลศาสตร์เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่างไรก็ตามงานบริการวิชาการฯจะแจ้งให้ทางชุมชนขุนทะเลได้ทราบอีกครั้ง

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน  ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts