ฝ่ายบริการวิชาการฯ มรส. ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน มุ่งเน้นคุณภาพการศึกษาสู่การพัฒนาท้องถิ่น
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯ เผย มรส.นำเสนอข้อมูลร่วมกับโรงเรียน 34 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชู ผลการดำเนินงานนักเรียนมีการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศระดับดีเยี่ยม
…..เมื่อเวลา 10.00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
โดยโครงการดังกล่าว มีเครือข่ายสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมจำนวน 8 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยตาปี วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ วิทยาลัยชุมชนพังงา และวิทยาลัยชุมชนระนอง
…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมดังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นโดยดำเนินการจัดกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 7 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การยกระดับความรู้ภาษาอังกฤษ การยกระดับความรู้ภาษาไทย การพัฒนาศักยภาพครู การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน การจัดการเรียนการสอนสะเต็มในสถานศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ตามความต้องการของโรงเรียนเป้าหมายและสอดคล้องกับความรู้ความเชี่ยวชาญที่สถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยงมีอยู่ ซึ่งผลการดำเนินงานในการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศและภาษาที่ 3 เบื้องต้นมีผลในระดับดีมากและสามารถใช้ในการสื่อสารในสถานะการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในฐานะประธานเครือข่ายกลุ่ม C3 การบริการวิชาการ ยังได้เสนอให้มีการเริ่มต้นการบริการวิชาการแบบร่วมกันทำเพื่อสร้างระบบการบริการวิชาการของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในโซนภาคใต้ตอนบน โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคมนี้
…..โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เริ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ได้มุ่งทิศทางในการพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านอุดมศึกษา ที่มุ่งเน้นความสำคัญของการส่งเสริมบทบาทให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาในท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาท้องถิ่น ฉะนั้น การจะขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวเพื่อผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมจากปัจจุบันสู่อนาคต ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างเป็นระบบและเดินหน้าการพัฒนาไปสู่เป้าหมายในการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละท้องถิ่น ทั่วประเทศให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
[envira-gallery id=”5886″]
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี