งานบริการวิชาการฯ มรส. จัดประชุมร่วมสภาเกษตรฯ หวังยกระดับผลิตภัณฑ์ตัว TOP ขึ้นห้าง
ด้านผู้แทนสำนักงานสภาเกษตรกร จังหวัดสุราษฎร์ธานี หวัง ราชภัฏสุราษฎร์ธานีช่วยเหลือเป็นกลไกยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะมีทั้งศาสตร์และศิลป์พร้อมสรรพกำลังสามารถ improveได้เต็มที่
เมื่อเวลา 14.00 น. (30 มกราคม 2563) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการตลาดแก่องค์กรเกษตรกร ณ ห้องราชพฤกษ์ 4 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีฯ เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ได้มีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานชุมชนภายนอกเข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย เช่น รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้แทนจากสภาเกษตร และหน่วยงานจากสำนักงานพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้นำชุมชนจากอำเภอต่างๆ เช่น อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา อำเภอพุนพิน เป็นต้น
สืบเนื่องจากสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สนับสนุนงบประมาณและบุคลากรในการพัฒนาต่อยอดคุณภาพผลิตภัณฑ์และขยายช่องทางการตลาดแก่กลุ่มองค์กรเกษตรกร ซึ่งมีกลุ่มแปรรูปกะปิ กลุ่มทำขนมพื้นบ้าน และกลุ่มทำน้ำพริกปลาย่าง ซึ่งทำจากพืชและสมุนไพรในท้องถิ่น
ด้านคุณช่อทิพย์ วาณิชย์เจริญ ผู้แทนจากสำนักงานเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวว่า ทางกลุ่มองค์กรเกษตรกรได้ทำผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายและต้องการขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรแต่ยังขาดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หีบห่อ การยืดอายุ และช่องทางการตลาด สภาเกษตรฯจึงตั้งความหวังและเชื่อมั่นองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นหน่วยงานแรกเพราะเคยร่วมงานและได้รับการช่วยเหลือในด้านต่างๆจากมหาวิทยาลัยมาหลายครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยฯไม่เคยปฏิเสธการช่วยเหลือและพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงทั้งศาสตร์และสรรพกำลังให้กับชุมชนท้องถิ่นเสมอ
ขณะที่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เผยถึงแผนการดำเนินงานว่า มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุน และเป็นกลไกในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เกิดการต่อยอด ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างเครือข่ายและขยายการตลาดเพิ่มคุณภาพและอนุรักษ์วิถีดั้งเดิม โดยเล็งเห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่ตัวแทนชุมชนนำมาเป็นตัวอย่าง เช่น น้ำตาลโตนด กะปิท่าฉาง และปูม้า ซึ่งสามารถนำมาเป็นSTORY ขยายช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนได้อย่างมหาศาล ในนามของมหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง เป็นความหวังของการรับใช้ชุมชนตามเจตนารมณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการรับใช้ชุมชนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามการประชุมดังกล่าวได้มีนักศึกษาในโครงการวิศวกรสังคมจากคณะต่างๆทุกขั้นปี ร่วมประชุมและเข้าสังเกตการณ์ พร้อมทั้งร่วมกำหนดแผนลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของชุมชนที่ผลิตน้ำตาลโตนด ตลอดจนพื้นที่ที่มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูป