งบว. จัดประชุมผู้รับผิดชอบโครงการอพ.สธ. รองฯพันธกิจสัมพันธ์ Startup แผนการดำเนินไม่หวั่นสถานการณ์ COVIC –19
งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระดมความคิดหาแนวทางขับเคลื่อนและยกระดับการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อเวลา 14.00 น. (13 พฤษภาคม 2563) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นจัดประชุมผู้รับผิดชอบโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ. – มรส.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 3 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมี ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ เป็นประธานในการประชุมทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเป็นการติดตามเรื่องการจัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯพร้อมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ประสานดังกล่าว
โดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ชี้แจงว่าในฐานะรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้ตั้งเป้าหมายของศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในลักษณะเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยในระยะแรกศูนย์ประสานงาน ดังกล่าวจะต้องจัดตั้งอยู่ ณ งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ประสานงาน และจะมีการคัดสรรผู้ที่มีความเหมาะสมดำเนินงานเป็นผู้อำนวยการตัวจริงและหัวหน้าศูนย์ฯที่มีความรู้ความสามารถในการดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งระยะแรกมหาวิทยาลัยจะต้องใช้วิธีการเกลี่ยอัตรากำลังให้มาประจำที่ศูนย์ และสถานที่การจัดตั้งศูนย์น่าจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ของหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์
ด้าน ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ. – มรส.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563ว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการมีแผนการดำเนินงานที่รองรับสถาการณ์การแพร่ระบาด COVID – 19 ซึ่งมติของรัฐบาลจะมีการปลดล็อคหรือไม่ก็ตามการขับเคลื่อนงานจะต้องเดินหน้าต่อไป นอกจากนี้ ยังกำชับให้ทุกโครงการมีการประเมินโครงการให้เป็นรูปธรรม เห็นภาพการดำเนินงานอย่างชัดเจนเพื่อที่จะได้เป็นการเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆให้สังคมภายนอกได้รับทราบ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ผู้รับผิดชอบโครงการทุกท่านจัดเก็บข้อมูลให้มีระบบเพราะต่อไปทุกกิจกรรมจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ ซึ่งคาดว่าถ้านำข้อมูลมาสัมพันธ์กันกับทุกโครงการมหาวิทยาลัยก็จะได้มีนวัตกรรมการต่อยอดโครงการต่อไปในอนาคต
ในส่วนของแนวทางการดำเนินงานที่ให้ผู้รับผิดชอบไปจัดทำแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและบรรลุวัตถุประสงค์และสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของ COVID – 19 มีการนัดหมายกันในที่ประชุมว่าเริ่ม Startup วันที่ 1 มิถุนายน 2563 และจะเตรียมประชุมนัดหมายติดตามผลการวางแผนการดำเนินงานในครั้งต่อไปในวันที่ 10 มิถุนายน 2563
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ รูปภาพ