งานบริการวิชาการฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะแรต–หาดนางกำเพื่อยกระดับชีวิต ชาวบ้านร้องขอ มรส.อย่าทิ้งชุมชน
ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ชี้ หวังยกระดับคุณภาพชีวิต เล็งพัฒนาสร้างเว็บไซต์แหล่งท่องเที่ยว ส่องวิถีชีวิตชาวเกาะ เน้นย้ำไม่เปลี่ยนแปลงบริบทชุมชนแน่นอน
…..เมื่อเวลา 12.30 น. งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ส่งมอบคู่มือส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเกาะแรต ณ ชุมชนเกาะแรต และ ชุมชนบ้านนางกำ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยคู่มือดังกล่าวประกอบไปด้วยรายละเอียดที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ได้แก่ การประกอบอาชีพของชาวบ้าน สังคม ความเชื่อ และพิธีกรรมของชุมชน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในชุม การบริการด้านการท่องเที่ยว และอื่นๆ
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นการส่งมอบคู่มือส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเกาะแรต–หาดนางกำ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการฯได้จัดทำขึ้นเพื่อการประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวดอนสัก – เกาะพะลวย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเป็นธรรมชาติและงดงามมาก การทำคู่มือส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงเป็นพันธกิจแรกที่เราต้องดำเนินการในความพิเศษของคู่มือดังกล่าวได้จัดทำเป็น 2 ภาษา คือภาษาไทย และภาษาจีน ซึ่งในปีต่อไปเรามีความคิดที่ต่อยอดพัฒนาชุมชนแห่งนี้ ด้วยการจัดทำเว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยว และจะยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆด้านที่จำเป็น
……อย่างไรก็ตามจากที่ได้พูดคุยกับผู้นำชุมชน ได้รับทราบถึงปัญหาและจุดอ่อนที่ต้องระดมความคิดจากหน่วยอื่นร่วมกันแก้ไข โดยประเด็นแรกที่เราต้องดำเนินการคือ ปัญหาการจัดการขยะของชาวชุมชน ซึ่งทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีถังขยะน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนขยะที่มีจำนวนมากโดยขยะส่วนใหญ่ได้ถูกกระแสน้ำพัดมาจากที่อื่น ประเด็นที่สองคือมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศน้อยมาก ซึ่งได้วิเคราะห์กันว่า เพราะชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ ไม่มีเพจเฟสบุ๊คแนะนำการท่องเที่ยวหรือเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นเราจึงมีความคิดเบื้องต้นว่าจะดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ที่เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ได้ประสานไปยังเครือข่ายคือสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วในเบื้องต้น
…..ขณะที่ นายฉัตรชัย พงศ์พิชิตชัย ผู้ใหญ่บ้าน และนายภูวนาท แก้วออท ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ให้สัมภาษณ์ว่า ชุมชนของเรามีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย และจุดเด่นที่ไม่มีใครทราบคือ เป็นแหล่งที่ปลาโลมาสีชมพูอาศัยอยู่มากที่สุด ถ้านักท่องเที่ยวมาดู 10 ครั้ง ก็จะเจอทั้ง 10 ครั้ง นอกจากนี้ ปัญหาขยะที่มีอยู่มากมายแต่ไม่สามารถบริการจัดการได้อย่างเต็มที่เพราะที่นี่ มีถังขยะค่อนข้างน้อย และไม่มีถังขยะแยกชิ้นแบบที่อื่น อย่างก็ตาม ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฎราษฎร์ธานี ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือดูแล แก้ปัญหาให้ชุมชน และหวังว่าราชภัฏสุราษฎร์ฯจะไม่ทอดทิ้งชาวชุมชนแห่งนี้
…..ด้าน ดร.พลกฤต แสงอาวุธ ได้กล่าวว่า วันนี้นับเป็นก้าวแรกที่เราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ด้านการท่องเที่ยวโดยการจัดทำคู่มือส่งเสริมการท่องเที่ยว และในอนาคตเรามีแผนดำเนินการต่อยอดยกระดับชีวิตของชาวชุมชน อย่างแน่นอน โดยคาดว่าการบริหารจัดการขยะจะเป็นประเด็นแรกที่เราต้องประสานเครือข่ายให้เข้ามาช่วยด้วย นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการแปรรูปอาหารทะเล จะเห็นได้ว่าชาวบ้านมีวัตถุดิบที่สดใหม่ทุกวัน ดังนั้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจึงเป็นประเด็นที่ต้องคิดพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการได้ประสานไปยังเครือข่ายด้านการคิดบรรจุภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี