งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น เข้าพบผอ. กลุ่มวิเคราะห์ดิน หลังหารือเบื้องต้นกับศูนย์วิทย์ฯ ย้ำ! ต้องเดินหน้าหาทางแก้ไข
ผู้ช่วยอธิการบดีฯ เผย ถ้าเราหยุดนิ่ง ปัญหาก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องมุ่งมั่นยกระดับพัฒนาในทุกมิติ ตามปณิธาน มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน ผู้สร้างแผ่นดินให้เป็นพลัง
…..เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ พร้อมด้วย อาจารย์กานต์ธิดา บุญมา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ และ ดร.สุพรรณิการ์ ศรีบัวทอง รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทีมงาน ได้เดินทางไปยังสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 สุราษฎร์ธานี เพื่อหารือเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของดินในพื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้สืบเนื่องจากการมหาวิทยาลัยฯได้ร่วมโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ เดือนละ 1 อำเภอ และได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรในแต่ละอำเภอ พบว่า พี่น้องไม่มีข้อมูลที่ทำให้ทราบถึงระดับคุณภาพของดินที่ใช้ในการเพาะปลูก
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เผยว่า “หลังจากได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนตามโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ พบว่า เกษตรกรประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของดิน ซึ่งไม่สามารถทราบได้เลยว่า ดินที่มีอยู่เหมาะสมกับการปลูกพื้นชนิดใด ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้ร่วมหารือกับคณาจารย์และบุคลากรประจำศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพของดินเป็นอย่างไร และควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้น ในวันนี้จึงได้มาร่วมหารือกับ คุณแฉล้ม พริ้มจรัส ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
…..ด้าน ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ดิน กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางมาร่วมพูดคุยทำความเข้าใจกระบวนการดังกล่าว เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีหน่วยงานสถานศึกษาใดที่ดำเนินการมุ่งมั่นอย่างชัดเจนเช่นนี้ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของดินที่จะนำมาทดสอบว่าต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนจึงสามารถนำมาตรวจสอบกับเครื่องมือได้ ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาที่ดินฯจะต้องรายงานผลภายใน 60 วัน และอุปกรณ์ที่ใช้หรือที่เรียกว่า Test Kit สามารถใช้วัดปริมาณคุณภาพของดิน 3 ระดับคือ สูง กลาง ต่ำ และการนำตัวอย่างของดินมาตรวจสอบก็เช่นเดียวกันต้องมีความรู้ว่าต้องนำดินลักษณะใดมาทดสอบ”
…..อย่างไรก็ตาม ดร.สมปราชญ์ ได้เสนอแนวทางว่า ควรดำเนินการเป็นสองส่วนคือ 1.ต้องให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร ก่อน 1 เดือนที่จะมีโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ ซึ่งต้องขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่จากกลุ่มวิเคราะห์ดินร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้กับพี่น้องร่วมกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยด้วย และ 2.เมื่อมีกำหนดการจังหวัดเคลื่อนที่ มหาวิทยาลัยฯจะเป็นผู้รับตัวอย่างดินแล้วทดสอบโดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นเมื่อได้ผลระดับคุณภาพในเบื้องต้น ทางมหาวิทยาลัยจะนำผลดังกล่าวมาให้กลุ่มวิเคราะห์ดินร่วมกันวิเคราะห์อีกครั้งในลักษณะเป็นที่ปรึกษาและร่วมอภิปรายผลในเชิงลึก
…..หลังจากการหารือได้ข้อสรุปว่า งานบริการวิชาการฯจะทำร่างกำหนดการการตรวจเยี่ยมและให้ความรู้แก่พี่น้องเกษตรกร เพื่อให้ได้วันที่ตรงกันและสามารถร่วมดำเนินงานไปด้วยกัน พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยจะทำหนังราชการขอความอนุเคราะห์วิทยากรไปยังผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 สุราษฎร์ธานี
…..ท้ายสุดของการสนทนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือชุมชนโดยนำสรรพกำลังร่วมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามปณิธานที่ได้ตั้งขึ้นว่า เราจะเป็นมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน ผู้สร้างแผ่นดินให้เป็นพลัง”
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี