งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมหารือคณาจารย์สาขาฯการจัดการภัยพิบัติ ย้ำเตือน ! ปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือทุกคนต้องรู้เท่าทัน

ผู้ช่วยอธิการบดีฯชี้แนวทางการดำเนินงานควรให้ความรู้และตระหนักถึงความสำคัญ ชง! ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดันให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคต สุดทึ่ง สาขาวิชาการจัดการภัยพิบัติ มรส. เป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย

…..เมื่อเวลา 9.00 น.ของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และ ดร.พลกฤต แสงอาวุธ หัวหน้างานพันธกิจสังคม พร้อมคณะ เข้าร่วมหารือ กับ ดร.พรทิพย์ วิมลทรง อาจารย์กานต์ธิดา บุญมา และอาจารย์บุษยมาศ เหมณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับแนวคิดการป้องกันปัญหาภัยพิบัติทางน้ำ เนื่องจากผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เกิดแนวคิดว่าหลังจากที่ได้ดำเนินการเรื่องการแก้ไขปัญหาคุณภาพของดินให้กับชุมชนท้องถิ่นแล้ว มหาวิทยาลัยฯควรตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอันเนื่องมาจากน้ำด้วย เพราะสภาพภูมิอากาศของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีฝนตกชุกทุกปีและตกอย่างต่อเนื่องซึ่งก่อให้เกิดอุทกภัยได้ง่าย ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะหาทางป้องกันไว้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงเจตนารมย์ของการดำเนินการดังกล่าวว่า “หลังจากที่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของดินในระยะแรกซึ่งได้แนวทางการแก้ปัญหาและหาข้อสรุปได้ในเบื้องต้นแล้ว ภารกิจต่อไปที่อยากดำเนินการช่วยเหลือท้องถิ่นคือ การแก้ปัญหาภัยพิบัติทางน้ำ เพราะอย่างที่ทราบกันอยู่ว่าภาคใต้มีฝนตกชุกและตกอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นจึงควรหาแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้ชุมชนเกิดความเดือดร้อนขึ้นในภายหลัง ซึ่งการดำเนินงานอาจเป็นในรูปแบบของการทำวิจัย หรือการให้ความรู้เบื้องต้นแก่พี่น้องในชุมชนท้องถิ่น”

…..ด้าน คณาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภัยพิบัติ ได้กล่าวว่า “ทางคณาจารย์มีความยินดีอย่างยิ่งในการร่วมกิจกรรมนี้ เพราะสาขาการจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสาขาที่ตอบโจทย์ให้แก่สังคมชุมชนท้องถิ่นโดยตรง ในการให้ความรู้ ช่วยเหลือและสนับสนุนแนวปฏิบัติการป้องกันภัย ซึ่งสาขาวิชาการจัดการภัยพิบัติ เป็นหลักสูตรในระดับปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติจาก สกอ.”

…..ในเบื้องต้นได้ทำวิจัยในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วซึ่งล่าสุดมีแผนดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 เป็นชุดโครงการจำนวน 3 โครงการ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจะเน้นเรื่องอุทกภัยเป็นหลักโดยมีพื้นที่เป้าหมายคือ บริเวณลุ่มแม่น้ำตาปีตอนล่างในระยะแรก ส่วนระยะที่สองจะดำเนินการในพื้นที่อำเภอไชยา อำเภอพุนพิน และ ระยะที่สาม คือเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่าพลุซึ่งก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าได้ ซึ่งถ้าจะเน้นในเรื่องมาตรการป้องกันน้ำท่วมทางสาขาวิชาฯได้มีข้อมูลเบื้องต้นโดยสามารถรวบรวมได้ แต่ยังไม่ใช่ข้อมูลเชิงลึกหรือในลักษณะของการพยากรณ์ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยต้องการที่จะให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องการป้องกันภัยพิบัติอันจากน้ำนั้น สาขาวิชาฯสามารถดำเนินการได้ทันที”

…..ดร.สมปราชญ์ ได้เสนอแนวคิดว่า “มหาวิทยาลัยฯต้องการดำเนินการป้องกันก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติฯ ไม่อยากให้เป็นเพียงการบริจาค ช่วยเหลือหลังเกิดเหตุการณ์ เพราะนั่นหมายถึงการปล่อยปละละเลยให้ท้องถิ่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นจึงอยากสร้างมิติใหม่ในการช่วยเหลือชุมชน คือ การป้องกันปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น การลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่า ปฏิบัติอย่างไร ช่วยเหลือตนเองอย่างไรในเบื้องต้น และช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย และนี่คืออีกโจทย์หนึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ต้องเป็นที่พึ่งให้กับท้องถิ่น ”

…..อย่างไรก็ตาม ดร.พลกฤต แสงอาวุธ หัวหน้างานพันธกิจสังคม ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “แนวทางการดำเนินงานในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯจะทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และเป็นกระบวนการที่มีลำดับขั้นตอนอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทั้งการให้ความรู้ การลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนให้รับทราบบริบทของชุมชน การสนับสนุนช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์ หรือการช่วยเหลือเยียวยาสภาพจิตใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน ถ้าทำอย่างเฉพาะเจาะจงหลังเกิดเหตุการณ์ความเสียหาย เช่น การตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของ หรือ เข้าไปตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ครบถ้วนและถูกวิธี นอกจากนี้ ควรประสานผลักดัน การปลูกจิตสำนึกนักศึกษาในการขยายผลการเผชิญสถานการณ์น้ำอย่างรู้เท่าทัน ซึ่งต้องขอความอนุเคราะห์ให้คณาจารย์สาขาวิชาการจัดการภัยพิบัติช่วยเหลือในการอบรมให้ความรู้ และร่วมลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อทราบถึงความต้องการ รวมถึงการสำรวจพื้นที่ที่ต้องป้องกันแก้ไข”

…..ซึ่งการหารือในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่า ทีมงานของงานบริการวิชาการฯและคณาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภัยพิบัติ จะดำเนินการกำหนดแผนลงพื้นที่ตามชุมชนท้องถิ่น โดยระยะแรกจะเป็นการให้ความรู้ในเรื่องของการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือด้านอื่นๆในเบื้องต้นอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ งานบริการวิชาการฯจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองพัฒนานักศึกษา และคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อการกำหนดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้เบื้องต้น เช่น การอบรมที่สอดแทรกไปกับกิจกรรมการปฐมนิเทศ ในเรื่องของการปฐมพยาบาล การทำCPR เป็นต้น และระยะที่สอง ผู้ช่วยอธิการบดีฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าร่วมหารือกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องในเรื่องของผังเมืองเพื่อเสนอแนวทางในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในส่วนระยะที่สามจะประสานกองพัฒนานักศึกษา รวมสรรพกำลังนักศึกษาจิตอาสาลงสำรวจพื้นที่ต้นน้ำเพื่อนำไปสู่การสร้างฝายทดน้ำ โดยอาศัยความร่วมมือกับท้องถิ่นเป็นสำคัญ

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts