บริการวิชาการฯ มรส. ร่วมโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ ลงพื้นที่ ร.ร.บ้านควนพัฒนาประชาสรรค์ ผวจ.ชื่นชม ทีมมรส. ทำเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง
…..ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินชมหน่วยงาน เยือนบูธราชภัฏสุราษฎร์ธานี ยิ้มร่าเผยชอบคนรุ่นใหม่ไฟแรง ด้าน ดร.สมปราชญ์ ประกาศกลางเวทีประชาคมอีกรอบ จังหวัดเคลือนที่ไปที่ใด มรส.จะไปที่นั่น พร้อมนำทุกสรรพกำลังสนองความต้องการของชุมชน
…..เมื่อเวลา 07.00 น. (23 กุมภาพันธ์ 2561) คณะทำงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำโดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะนิติตศาสตร์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และฝ่ายสื่อสารองค์กร ได้เดินทางไปยัง โรงเรียนบ้านควนพัฒนาประชาสรรค์ ตำบลคลองน้อย อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมโครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน” หรือจังหวัดเคลื่อนที่ โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
…..โดยกิจกรรมหลักของโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ คือการนำผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนจากหน่วยงานภาครัฐ มาแจกจ่ายและจำหน่ายให้กับประชาชน การให้คำปรึกษาและตรวจสุขภาพ และการให้ตัวอย่างพืชพันธุ์การเกษตรเป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการมอบประกาศนียบัตรผู้ทำคุณประโยชน์และทำความดีต่อสังคม และมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจน พร้อมทั้งถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภค หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมจากปรัมพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการ สินค้าที่นำมาจัดแสดงตามบูธต่างๆ และได้กล่าวชื่นชมคณะทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งร่วมพูดคุยกับผู้ช่วยอธิการบดีฯว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีจุดแข็งที่มีคนรุ่นใหม่ไฟแรงช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เพราะทุกงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องการระดมกำลังเครือข่ายทุกภาคส่วนก็จะเห็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกิจกรรมด้วยทุกครั้งดังนั้นจึงอยากให้กำลังใจในการทำงานขอให้ช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง และถ้ามีความประสงค์อยากให้ทางจังหวัดช่วยเหลือหรือเป็นที่ปรึกษาก็ขอให้เข้ามาประสานงานได้ทุกเมื่อ”
…..ขณะที่ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ของการร่วมร่วมโครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน”ว่าวันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำองค์ความรู้มารับใช้ชุมชนท้องถิ่น ทั้งการให้คำปรึกษาด้านกฏหมาย หรือคลีนิคกฏหมาย จากคณะนิติศาสตร์ ส่งเสริมการอ่านและเทคโนโลยีหนังสือสามมิติซึ่งมีเป็นที่แรกของสถาบันการศึกษาภาคใต้ จากสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการให้คำปรึกษาเรื่องการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อบุตรหลานและผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำสรรพวิชาทั้งหมดที่มีอยู่รวมพลังนำองค์ความรู้สู่ประชาชนให้มากที่สุดและจะร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกโครงการทุกกิจกรรมตามแผนการดำเนินการของจังหวัด เพราะเจตนารมณ์ของเราคือจังหวัดอยู่ใดมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีก็จะอยู่ที่นั้น ดังปณิธานที่ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อดิสรณ์ เนาวโคอักษร, อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี