มรส.ร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีประชุมหารือผู้แทนชุมชนจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
ด้านผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์การท่องเที่ยวตอบรับสนับสนุนร่วมแสดงความคิดเห็นหาแนวทางกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีศักยภาพสูงสุด
เมื่อเวลา 09:00 น. (วันที่ 4 มิถุนายน 2563) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีกำหนดจัดประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสุราษฎร์ธานี ณ ห้องประชุมศรีวิชัย อาคารกาญจนาภิเษกอนุสรณ์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นประธานในการประชุม
ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อให้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามศักยภาพและความต้องการของชุมชนพร้อมทั้งสามารถขับเคลื่อนและเชื่อมโยงเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวระหว่างสุราษฎร์ธานีและพื้นที่เป้าหมายอื่นได้โดยมีตัวแทนกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากพื้นที่ชุมชนต่างๆ เช่นชุมชนบ้านยวนสาว ชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง ชุมชนบ้านนางกำ เป็นต้น เข้าร่วมประชุมหารือเป็นจำนวนมาก
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้กล่าวว่า โครงการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยทั้งหมดจะถูกย้ายไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม นั่นหมายถึงให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำ เป็นผู้สร้างองค์ความรู้เพื่อตอบโจทย์การศึกษาไทยแลนด์ 4.0 โดยมีการแยกมหาวิทยาลัยเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่มีหน้าที่สร้างองค์ความรู้พัฒนาประเทศ 2. มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า หรือเทคโนโลยีราชมงคลเป็นต้น และกลุ่มที่ 3. คือกลุ่มมหาวิทยาลัยพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานีอยู่ในกลุ่มดังกล่าวโดยจะมุ่งเน้นในการพัฒนาท้องถิ่นนำองค์ความรู้สู่ชุมชนเพื่อให้ชุมชนยืนหยัดได้ด้วยตนเองในอนาคต มหาวิทยาลัยได้ปรับหลักสูตรให้มีความหลากหลายโดยมีจุดเน้นเพื่อการตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่คือ 1.การจัดการเกษตรคุณภาพ 2.การท่องเที่ยว 3.การสร้างสังคมเป็นสุข 4.ผลิตครูมืออาชีพ และ 5.ระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้อธิการบดีฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนจะต้องอยู่บนฐานของดิจิตอล ซึ่งมหาวิทยาลัยอยากให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญด้านสื่อเทคโนโลยีมากขึ้นและร่วมกันผลักดันให้มีการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบstory ทั้งสถานที่และตัวบุคคลซึ่งจะทำเป็นแผนแม่บทในอนาคต
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ รูปภาพ