งานบริการวิชาการฯจูงมือเครือข่าย UBI – วิทยาศาตร์ฯ ลงพื้นที่ หมู่ 9 ติดตาม โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว – เศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
…..ชู ขับเคลื่อน สินค้าจากไก่อารมณ์ดี หวังผลผลิตไข่มีคุณภาพ ทีมงานบริการวิชาการฯ ยกนิ้ว หมู่ 9 ผู้ใหญ่บ้านสุดปลื้มเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ใช้องค์ความรู้ที่ มรส.ให้ ยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง
…..เมื่อเวลา 14.00 น. (7 กุมภาพันธ์ 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมด้วยคุณฐิติมา บุญยังผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI และ ดร.สุพรรณิการ์ ศรีบัวทอง รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและบริการวิชาการ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางไปยังศาลาประชาคม หมู่ที่ 9 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามแผนในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมี นางปัทมา ฤทธิกัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มแกนนำหมู่บ้านให้การต้อนรับ
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงกิจกรรมการดำเนินงานของหมู่ที่ 9 ว่า ผลิตภัณฑ์และสินค้าที่หมู่บ้านดังกล่าวได้เสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ การเพาะเลี้ยงไก่อารมณ์ดี ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกรรมวิธีการเพาะเลี้ยงและเพาะพันธุ์อย่างถูกต้อง โดยประเด็นที่ได้พูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านจะต้องทำเป็นลำดับขั้นตอนคือ 1. ชาวบ้านต้องมีความรู้ 2. เมื่อได้รับองค์ความรู้ และสามารถเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกวิธี และมีกระบวนการจัดการเรื่องไข่ไก่ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน 3. การขาย(การตลาด)ไข่ไก่ของชุมชนซึ่งต้องมีความแตกต่างจากไข่ไก่จากฟาร์มทั่วไป 4. ต่อยอดโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะต้องขอความอนุเคราะห์เครือข่ายงานบริการวิชาการฯ คือศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI และองค์ความรู้จากคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะให้ทีมบริการวิชาการฯประสานไปยัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์โสภณ บุญล้ำ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเพาะเลี้ยงไก่และการเกษตร จากสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นวิทยากรให้ความรู้การเพาะเลี้ยงไก่อารมณ์ดีอย่างถูกวิธี และเมื่อได้กำหนดการที่แน่นอนทีมบริการวิชาการฯจะประสานไปยังผู้นำหมู่บ้านอีกครั้ง
…..นอกจากนี้ นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวเสริมเรื่องการจำหน่ายไข่ไก่อารมณ์ดีว่า การวางจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่จะต้องไม่ซ้ำและเป็นคู่แข่งกับไข่ไก่ตามท้องตลาดทั่วไป เพราะวิธีการเลี้ยงมีข้อจำกัดและเลี้ยงดูตามสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติซึ่งแตกต่างจากไข่ไก่ที่เลี้ยงในฟาร์ม เพราะ1.ผู้เลี้ยงให้การดูแลด้วยอาหารที่มาจากธรรมชาติซึ่งไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร 2.บริเวณในการเพาะเลี้ยงมีความสะอาด 3.ราคาต้องแตกต่างจากไข่ไก่ตามท้องตลาดเพราะวิธีการเลี้ยงมีความต่างจากไก่ที่เลี้ยงในฟาร์ม และที่สำคัญไข่ไก่ที่บรรจุไว้ในบรรจุภัณฑ์จะต้องมีรูปลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะของความเป็นชุมชนท้องถิ่น
…..อย่างไรก็ตาม คณะงานบริการวิชาการซึ่งได้ติดตามผลการดำเนินงานของชุมชนหมู่ที่ 9 ได้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจ เพราะได้พิจารณาแล้วว่าหมู่บ้านดังกล่าวได้นำองค์ความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถต่อยอดรวมกลุ่มกันเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำดอกไม้จันทน์ที่มีออเดอร์การสั่งทำเป็นจำนวนมากในทุกๆวัน ซึ่งเป็นผลมาจากผู้นำหมู่บ้านและกลุ่มสมาชิกที่ต้องการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
ยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ, เทพพร ฉิมพิมล ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี