ทีมบริการวิชาการฯ พร้อม UBI ลงพื้นที่ หมู่ 10 ผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลือง น้ำพริกไตปลาแห้ง แกนนำหมู่บ้านพร้อมลุย เร่งตีตราแบรนด์ “ขุนเล”
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯ – หัวหน้างานบริการฯสุดปลื้ม ชื่นชมชาวบ้านมีความพร้อมผลิตสินค้าน้ำมันเหลืองสมุนไพร – ไตปลาแห้งจำหน่ายเอง ดันสุดแรงอบรมเชิงปฏิบัติการให้สินค้ามีคุณภาพ ชูขึ้นห้างในอนาคต
…..เมื่อเวลา 10.00 น. (13 กุมภาพันธ์ 2561) คณะทำงานงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น นำโดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการิชาการ และผู้แทนจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI ได้เดินทางไปยังร้านจำหน่ายธงฟ้าประชารัฐ หมู่ที่ 10 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าตามแผนในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยหมู่บ้านดังกล่าวได้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลือง น้ำพริกไตปลาแห้ง ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำหมู่บ้าน
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของชุมชน หมู่ที่ 10 ว่า การผลิตน้ำมันเหลืองสมุนไพร และน้ำพริกไตปลาแห้ง ของหมู่ที่10 มีปัจจัยที่เอื้อต่อการทำให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จ เช่น แกนนำที่มีศักยภาพในการติดต่อสื่อสาร การรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี มีความพร้อมทั้งวัตถุดิบจากธรรมชาติ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานเป็นผลให้ การจัดจำหน่ายสินค้าภายในชุมชนสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับครัวเรือนได้อย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการขยายแผนช่องทางการตลาด การทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้เหมาะสมกับสินค้าและสร้างแรงดึงดูดใจให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการฯ ร่วมกับ UBI พร้อมทั้งแกนนำหมู่บ้าน ได้ร่วมกันเสนอความคิดในการจัดทำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว โดยให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI เป็นเจ้าภาพเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์และฉลาก ซึ่งจะนำตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 3 แบบ มาให้กรรมการหมู่บ้านและคณะทำงานพิจารณาอีกครั้ง ในส่วนของช่องทางการตลาด คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาว่า หลังจากที่ผลิตภัณฑ์มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านบรรจุภัณฑ์หีบห่อ ฉลากโลโก้ และที่สำคัญได้คุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว หน่วงานงานบริการวิชาการฯจะประสานไปยังเครือข่ายบริการวิชาการขอความอนุเคราะห์ดำเนินการอบรมให้ความรู้ด้านเทคนิควิธีการช่องทางการขายในตลาดออนไลน์ให้แก่ชาวบ้านอีกครั้ง
…..ด้าน นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชนหมู่ที่ 10 ว่า คุณสมบัติของน้ำมันเหลืองของหมู่ที่10 มีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างจากน้ำมันหอมทั่วไปคือการใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้ เพราะเป็นน้ำมันสมุนไพรที่สกัดมาจากธรรมชาติแต่มีแนวคิดที่จะขยายช่องทางการจำหน่าย ให้เป็นรูปแบบของสินค้าที่ใช้ประกอบในงานสำคัญต่างๆ เป็นของฝาก ของที่ระลึก แต่ในขณะเดียวกันอาจจะต้องพิจารณาว่าน้ำมันเหลืองสมุนไพรสามารถสกัดให้เป็นสีบริสุทธิ์ได้หรือไม่ เพราะสีเหลืองอาจติดไปในเนื้อผ้าเพราะมีส่วนผสมของขมิ้น จึงมีความคิดว่าอาจมีกรรมวิธีที่ใช้วัตถุดิบอื่นมาทดแทนได้ ทั้งนี้จะต้องขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ อีกครั้ง และในส่วนของกรรมวิธีการทำน้ำพริกไตปลาแห้งให้มีคุณภาพและพัฒนาสินค้าให้มีอายุการเก็บที่ยาวนานย่อมเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องระยะเวลาการวางจำหน่ายและสามารถส่งไปขายยังตลาดต่างจังหวัดได้ ดังนั้นจึงต้องขอความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการอาหารช่วยเหลือในเรื่องกรรมวิธีดังกล่าวด้วย
…..ขณะที่ นายจะรวย เพชรทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ได้กล่าวถึงกิจกรรมตามแผนในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ว่า เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดูแลเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีมาตลอด ตั้งแต่เริ่มมีแผนการดำเนินงานในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน งานบริการวิชาการฯและคณะได้ประสานมายังหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความก้าวหน้า พร้อมทั้งสอบถามเรื่องปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดทำผลิตภัณฑ์ ในส่วนของคณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการพูดคุยกันว่าสินค้าของหมู่บ้านที่ร่วมกันทำและจัดจำหน่ายยังเป็นรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดแก้วใสธรรมดา ดังนั้นจึงอยากจะศึกษารูปแบบของหีบห่อที่บรรจุได้เป็นแพค เช่น น้ำมันเหลืองสมุนไพรบบรรจุ 1 แพคมีจำนวน 4 ขวด เพราะจะเป็นการเพิ่มตัวตัวเลือกให้กับนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจและอาจเป็นจะเป็นก้าวแรกในการผลักดันตัวสินค้าให้มีช่องทางการตลาดในระดับที่สูงขึ้น
…..การลงพื้นที่หมู่ที่ 10 ตำบลขุนทะเล เป็นชุมชนสุดท้ายที่งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นและเครือข่ายบริการวิชาการ ได้ดำเนินการติดตามความก้าวหน้า และสรุปผลการผลิตสินค้าในกิจกรรม 1 ผลิตภัณฑ์ 1 หมู่บ้าน ซึ่งในระยะต่อไปคณะทำงานจะต้องจัดทำกรอบปฏิทินการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆอย่างเป็นขั้นตอนและต้องมีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด เช่น การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโลยีการอาหาร การอบรมช่องทางการตลาดออนไลน์ การบรรจุหีบห่อ ฯลฯ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมหาวิทยาลัยฯ โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จะกำกับติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและให้มีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี