มรส.เคาะ! แน่ ศูนย์ AIC หวังพัฒนาคุณภาพเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย

ด้านอธิการบดีฯ เผย มรส.เร่งขับเคลื่อนจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชี้เป็นพันธกิจหนึ่งในการรองรับความเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

เมื่อเวลา 10.00 น. (22 พฤษภาคม 2563) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นดำเนินงานจัดประชุมโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรของจังหวัด สุราษฎร์ธานี (Agritech and Innovation Center : AIC) ณ ห้องราชพฤกษ์ 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมีผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ได้มีผู้บริหารและแกนนำชุมชนทั้ง 10 หมู่บ้าน ในตำบลขุนทะเลเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก

อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในสภาวการณ์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะต้องมีแผนรองรับการเปลี่ยนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น อดีตมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สังกัดภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องแสดงศักยภาพในการส่งเสริมพัฒนาการเกษตรกรรม นวัตกรรมสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้นและเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนโดยทางจังหวัดและมหาวิทยาลัยได้ร่วมหารือกันและได้แนวนโยบาย Reinvent หรือการพลิกโฉมให้สามารถตอบโจทย์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริงควบคู่ไปกับการรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกด้าน โดยมีการวิเคราะห์ปัจจัยสิ่งแวดล้อม 4 ประเด็นคือ 1.เกษตรคุณภาพ 2.ท่องเที่ยวยั่งยืน 3.สังคมเป็นสุข 4.ผลิตครูมืออาชีพ และ 5.ธุรกิจและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตของมหามหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการจัดทำระบบดิจิตอลการส่งสินค้าแบบออนไลน์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากกับประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีฯได้ชี้แจงต่อไปว่า การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรของจังหวัดสุราษฎร์ธานี (Agritech and Innovation Center : AIC) ซึ่งเป็นแนวทางร่วมกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งทางจังหวัดฯ ได้ชี้เป้ามาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ามีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ บุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ซึ่งมหาวิทยาลัยมีพื้นที่จำนวน 24ไร่ ใกล้พื้นที่บริเวณ หอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่ของการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ครบวงจร smartfarm หรือระบบเพื่อการเกษตรในอนาคตยุค ดิจิตอล โดยใช้ระบบอินเตอร์เป็นตัวควบคุมปัจจัยต่างๆในการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสวนสราญรมย์โดยทางโรงพยาบาลฯให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ จำนวน 10 ไร่ ให้จัดตั้งเป็นศูนย์ AIC เช่นกัน

ขณะที่ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ได้เปิดเผยเรื่องการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรของจังหวัดสุราษฎร์ธานี (Agritech and Innovation Center : AIC) หลังจากที่ทางจังหวัดฯได้ชี้เป้ามาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีให้เป็นศูนย์กลางของ AIC ซึ่งเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีพื้นที่ระยะใกล้กับอำเภอเมืองมากที่สุดพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆและองค์ความรู้ที่มีหลากหลายทุกมิติ โดยมุ่งเน้นไปที่อาชีพของประชาชนในท้องถิ่นคือการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้กำหนดพันธกิจที่จะต้องดำเนินการในอนาคต 4 ด้านคือ 1. ธุรกิจการเกษตร 2. ฟาร์มอัจฉริยะ 3. ระบบ E-Commerce 4. BIG DATA ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์การทำธุรกิจออนไลน์

ในส่วนของพื้นที่ในการจัดตั้ง AIC ซึ่งอธิการบดีฯได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้วว่ากำหนดใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย พื้นที่ของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยทางพยาบาลมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยที่ทำการรักษาหายเป็นปกติได้มีโอกาสมาต่อยอดอาชีพที่มีอยู่เดิมได้ และนอกเหนือจากนี้ AIC ยังได้ทำความร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรเเละเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี อำเภอพนม ที่ให้ใช้พื้นที่ อีก 200 ไร่ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ศูนย์ AIC จะมีเครือข่ายการดำเนินงาน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสวนสราญรมย์และ วิทยาลัยเกษตรเเละเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี อำเภอพนม โดยใช้ link และอินเตอร์เนตเป็นตัวเชื่อมในการสื่อสารและการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ตามรองอธิการบดีฝ่ายบริหารได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยและบุคลากรทุกคนมีปณิธานแน่วแน่ที่จะยกระดับพัฒนาคุณชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน มหาวิทยาลัยและบุคลากร “ไม่มีหน้าที่ปฏิเสธ” แต่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือดูแล แก้ไขปัญหา และหากมีเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทำให้เกิดความเดือดร้อนขอให้ประสานมายังมหาวิทยาลัยได้ตลอดเวลา เพราะท่านอธิการบดีได้มีดำริว่าอยากให้รั้วมหาวิทยาลัยต่ำลง นั่นหมายถึงประชาชนจะเห็นมหาวิทยาลัยมากขึ้น”

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ รูปภาพ

Similar Posts