งานบริการวิชาการฯจับมือพ่อเมืองเทคโนโลยีฯ ระดมสมองเร่งยกระดับประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเกาะแรต
ด้านผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเผยทำเว็บไซต์ฉลุยแน่นอนแล้วเสร็จกลางเดือนธันวาคม 2560 นี้
…..สืบเนื่องจากงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดทำและส่งมอบคู่มือส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนเกาะแรต อ.ดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ไปแล้วนั้น และได้สนทนาพูดคุยกับผู้นำชุมชนพร้อมทั้งชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเกาะแรต ซึ่งได้ข้อสรุปว่า งานบริการวิชาการฯมีความคิดที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยการประชาสัมพันธ์ด้วยการจัดทำเว็บไซต์แหล่งท่องเที่ยวของเกาะดังกล่าว
…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้ประสานไปยังนายสมพร ศรีอาภานนท์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมหารือในการจัดทำช่องทางการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ณ ห้องผู้อำนวยการฯ อาคารทีปังกรรัศมีโชติ โดยได้ข้อสรุปว่าการสร้างเว็บไซต์ในระยะแรกดำเนินการเป็นข้อมูลพื้นฐานซึ่งมีข้อมูลจัดเก็บไว้แล้ว และเพิ่มข้อมูลระยะทางการเดินทาง ข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมการท่องเที่ยวรวมทั้งผลิตภัณฑ์ของฝาก
…..ซึ่งผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯ ให้ความเห็นว่า ระยะแรกซึ่งเป็นระยะเร่งด่วน เราจะดูแลด้านข้อมูลพื้นฐานในเบื้องต้น และอยากจะยกระดับคุณภาพได้จริงก็ต่อเมื่อชุมชนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ตนมีความคิดที่จะพัฒนาศักยภาพของชาวชุมชนโดยดำเนินการอบรมจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเป็นการต่อยอดให้กับรูปแบบการทำเว็บไซต์ และขอความร่วมมือให้ส่งตัวแทนจากชุมชนเข้าอบรม
…..โดย ดร.พลกฤต แสงอาวุธ หัวหน้างานพันธกิจสังคม ได้เผยถึงบริบทชุมชนว่าตามที่ตนเองได้ลงไปสำรวจพื้นที่กับทีมงานจัดทำคู่มือฯพบว่าข้อมูลประชากรภายในท้องถิ่นมีจำนวนกว่า 300 คนซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพการทำประมงแถบชายฝั่ง และได้สอบถามเบื้องต้นถึงกิจกรรมการท่องเที่ยว “ชุมชนดังกล่าวมีกิจกรรมการตกปลา ชมปลาโลมาสีชมพู ปั่นจักรยาน นั่งแพเรือลากล่องเรือไปยังเกาะต่างๆ และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะเป็นประโยชน์ต่อการทำเว็บไซต์อย่างมากกล่าว ในส่วนของตัวแทนที่เข้าอบรมเว็บไซต์ ได้สอบถามในเบื้องต้นว่ามีอยู่ประมาณ 10 คน ทั้งนี้จะประสานทางชุมชนด้วยตนเอง พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดของการอบรมให้ตัวแทนชุมชนทราบอีกครั้ง”
…..ด้าน ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ได้เสนอให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะรับทราบถึงปัญหาและความต้องการที่ชาวชุมชนอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีช่วยเหลือ “ผมขอความอนุเคราะห์ให้ทางสำนักวิทยบริการฯช่วยเร่งดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวโดยเร็ว เพราะทราบว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรามากและตอนนี้ชาวชุมชนกำลังรอเราอยู่ เพราะจากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน เขาย้ำอยู่บ่อยครั้งว่าขออย่าให้ ราชภัฏสุราษฎร์ฯทอดทิ้งชุมชน”
…..และเสนอต่อที่ประชุมว่ารายละเอียดของเว็บไซต์เบื้องต้น “อาจเป็นข้อมูลพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยว ช่องทางการเดินทาง หรือที่พัก ร้านอาหารที่เป็นภาษาไทย และภาษาจีนก่อน จากนั้นเราจะต่อยอดยกระดับเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับทราบข้อมูลและรู้จักแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเกาะแรต”
…..ขณะที่ นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวเสริมถึงรายละเอียดของข้อมูลที่ระบุในหน้าเว็บว่า ควรบอกถึงระยะทางการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร กิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวเมื่อชาวชุมชนได้รับการอบรมพัฒนาศักยภาพการทำเว็บไซต์ก็สามารถเพิ่มเติมข้อมูลได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้ง รายการของฝากจากท้องถิ่นด้วย
…..ฝ่ายประสานงานของสำนักวิทยบริการฯได้สรุปผลการทำเว็บไซต์แล้วเสร็จภายในกลางเดือนธันวาคม 2560 นี้ และรายละเอียดรูปแบบจะแตกต่างจากเว็บฯส่วนราชการ แต่จะมุ่งเน้นให้เห็นในมิติของแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมของชาวชุมชนเกาะแรตเท่านั้น และจะแต่งตั้งคำสั่งผู้มีหน้าที่ดำเนินงานดังกล่าวของสำนักวิทยบริการฯอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง
…..ท้ายสุดของการร่วมหารือครั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวขอบคุณ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือดำเนินการเพื่อชุมชม “ขอบคุณที่ไม่ทำอย่างฉาบฉวย และจะสร้างให้ชาวชุมชนยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ เพื่อชุมชนเห็นว่า มหาวิทยาลัยฯได้ทำจริงและไม่ทิ้งพวกเขาอย่างแน่นอน”
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ถ่ายภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี