ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ รุดดูสถานที่การแสดงมหรสพ พิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9
…..ร่วมหารือกับแม่งานทุกภาคส่วน เผยการแสดงต้องออกมาสมบูรณ์และงดงามที่สุด ด้านผอ.สำนักศิลปะฯ เน้นหนักการแสดงในสถานที่จริงต้องช่วยกันจัดระเบียบและดูแลทุกฝ่าย
…..เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 ตุลาคม 2560 ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ พร้อมด้วย ดร.พลกฤต แสงอาวุฒิ หัวหน้างานพันธกิจสังคม ได้เดินทางไปตรวจดูสถานที่การแสดงมหรสพ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 (วันที่ 26 ตุลาคม 2560) ซึ่งการแสดงดังกล่าว จะจัดขึ้นที่ ณ วัดกลางใหม่ ตำบลมะขามเตี้ย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
…..โดยได้ร่วมหารือกับคณะดำเนินงาน อันได้แก่ นายอนุรัตน์ แพนสกุล ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม นายฉลองชัย โฉมทอง อาจารย์ผู้ฝึกซ้อมวงดนตรีซิมโฟนี่และออเครสตรา ตัวแทนจากโรงเรียนและการแสดงหนังตะลุงจากหนังแท่นศิลป์ผ่องแก้ว
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวถึงสถานที่จริงการแสดงมหรสพ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ “เราได้ร่วมประชุมและหารือเรื่องสถานที่ที่ใช้ในการแสดง เป็นเวทีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถรองรับกับนักแสดงจำนวนมาก จากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะการแสดงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับทุกภาคส่วน มีทั้งหมด 9 ชุด อธิเช่น ระบำดาวดึงส์ ได้แก่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา โรงเรียนเทศบาล 1,3 และ 5 มอ.สุราษฎร์ธานี ระบำศรีวิชัย ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษา โรงเรียนมานิตานุเคราะห์ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีบ้านนาฏยานุรักษ์และแดนเซนเตอร์ ในชุดอื่นๆมาร่วมการแสดงอีกด้วย เครือข่ายหน่วยงานที่มาร่วมกิจกรรมกับเรายังไม่หมดแค่นี้ มีอีกหลายหน่วยงานที่ยังกล่าวถึงได้ไม่หมด เพราะทุกท่านร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกันอย่างจริงจังเพื่อให้การแสดงออกมายังตระการตามากที่สุด ทั้งการแสดงดนตรีไทย การแสดงดนตรีสากล และการแสดงมหรสพอื่นๆอีกหลายชุด ซึ่งต้องใช้เวทีใหญ่เวทีเดียวสลับกันแสดง ซึ่งสิ่งที่เราเน้นย้ำกันในที่ประชุมหารือครั้งนี้ คือระเบียบการควบคุมลำดับคิวการแสดงทั้ง 9 ชุดเพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาด และออกมางดงามที่สุด”
…..ด้าน นายอนุรัตน์ แพนสกุล ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้เปิดเผยถึงการเตรียมงานครั้งสำคัญ “ เราต้องร่วมมือและประสานกันทุกฝ่าย เพราะการแสดงมหรสพครั้งนี้เป็นการแสดงครั้งสำคัญ และยิ่งใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ได้พูดคุยกับตัวแทนผู้ควบคุมการแสดงทุกท่าน และทำความเข้าใจทุกขั้นตอน ทั้งการแสดงระบำทุกชุด การแสดงดนตรีไทย รวมทั้งดนตรีสากลที่ต้องสลับกันเล่นกับดนตรีไทย นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ต้องขนย้ายมาเวทีแห่งนี้ ซึ่งทุกฝ่ายได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวการดำเนินงานดังกล่าวในวันแสดงจริง อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ประสานและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่”
…..นอกจากนี้ หัวหน้างานพันธกิจสังคม ได้กล่าวเสริมว่า “ที่น่าเป็นห่วงคือ นักแสดงทุกชุดมีจำนวนมาก จริงอยู่เวทีมีขนาดใหญ่ แต่พื้นที่ด้านบนเมื่อวางเครื่องดนตรีและอุปกรณ์การแสดงแล้วอาจจะแคบเกรงว่าจะไม่เพียงพอต่อจำนวนนักแสดง แต่อย่างไรก็ตามได้ประสานไปยังหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ว่าควรจะติดตั้งเวทีเพิ่มเติมเนื้อที่ให้เพียงพอต่อจำนวนคน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดังนั้น ปัญหาพื้นที่บนเวทีจึงหมดไป”
…..ทั้งนี้ การแสดงมหรสพของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน มีทั้งหมด 9 ชุดด้วยกัน คือระบำดาวดึงส์ ระบำศรีวิชัย มโนรา หนังตะลุง ระบำสักการะเทวราช น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีดนตรีไทยสองวง และดนตรีสากลสองวง พร้อมทั้งมีการร้องเพลงพระราชนิพนธ์ประสานเสียง (วงดนตรีซิมโฟนี่) ที่จัดแสดงโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีด้วย
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน/ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี