ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ คล้องแขน ผอ.วิทยฯ ผุดโครงการทำเว็บไชต์ แหล่งท่องเที่ยว 65 แห่ง

ชี้ชัด! ราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน ต้องตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่น ตามพระราโชบายระยะ 20 ปี

เมื่อเวลา 10.30 น. ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และ อาจารย์ สมพร ศรีอาภานนท์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้แก่ ตัวแทนจากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว ฝ่ายสื่อสารองค์กร และเจ้าหน้าที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ ร่วมประชุมหารือเพื่อจัดทำเว็บไซต์ แหล่งท่องเที่ยว 65 แห่ง ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ ห้องผู้อำนวยการ อาคาร ทีปังกรรัศมีโชติ


ทั้งนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฯเผยว่า ตามที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งประเทศได้ข้อสรุปว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏควรเป็นหัวเรือใหญ่ ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภาคใต้มีภูมิประเทศที่มีจุดเด่นและได้เปรียบกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากมีชายฝั่งทะเลที่ยาวเหมาะกับการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก จึงอยากสนับสนุนเรื่องการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและเพื่อเป็นการตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”
การประชุมในวันนี้ มุ่งเน้นการจัดทำเว็บไซต์แหล่งท่องเที่ยวจำนวน 65 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้ศูนย์คอมพิวเตอร์ขับเคลื่อนในเชิงเทคนิค เช่นการวางรูปแบบเว็บไซต์ การประสานเรื่องวัสดุอุปกรณ์ และการสังเคราะห์งบประมาณ

[
“ขอให้เจ้าหน้าที่ศูนย์คอมพิวเตอร์วิเคราะห์งบประมาณเรื่องการซื้อ server และการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพราะมีความคิดร่วมกับผู้อำนวยการสำนักวิทยฯ ว่า ต้องมีการฝึกอบรมให้กับชาวชุมชน เพื่อที่จะให้เขาได้ต่อยอดและสามารถควบคุมดูแลเว็บไซต์แหล่งท่องเที่ยวของเขาเองได้ ส่วนมหาวิทยาลัยฯจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา โดยคาดว่าจะเชิญตัวแทนชุมชนละ 3 คน เข้าร่วมการอบรม ซึ่งการอบรมดังกล่าวจะไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ”
ด้านตัวแทนศูนย์คอมพิวเตอร์ระบุว่า การจัดทำรูปแบบของเว็บไซต์ หรือ การวางบล็อคสำหรับข้อมูลที่จะใช้ ทางศูนย์คอมพิวเตอร์จะดำเนินการให้อย่างเร่งด่วน แต่ด้านข้อมูล เนื้อหา สาระของแหล่งท่องเที่ยวจะต้องให้งานบริการวิชาการฯและวิทยาลัยนานาชาติฯ ช่วยจัดหาข้อมูลและส่งมายังศูนย์คอมฯ นอกจากนี้ เรื่องการใช้งบประมาณ ซึ่งจะต้องใช้ server ที่มีประสิทธิภาพสูง มีความเสถียร สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้ได้เป็นจำนวนมาก ในส่วนของการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทางสำนักวิทยฯได้มีนักศึกษาในโครงการ Young Webmaster ซึ่งสามารถเชิญมาเป็นผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงในการดำเนินโครงการดังกล่าวได้ด้วย


อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ได้กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า “โครงการนี้เป็นโครงการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ชาวต่างชาติได้ทราบข้อมูล ภาพลักษณ์ และจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย และที่สำคัญเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีในวโรกาสอันเป็นมหามงคลเฉลิมพระชนมายุครบ 65 พรรษา ของพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ด้วย”
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯได้กล่าวเสริมว่า “ควรให้ฝ่ายสื่อสารองค์กรประชาสัมพันธ์เผยแพร่เว็บไซต์ด้วย เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่สังคมต้องรับทราบ   นอกจากนี้ต้องกลั่นกรองเนื้อหาสาระให้ละเอียดและถูกต้องที่สุดเพราะเป็นการจัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในส่วนของเรื่องการสังเคราะห์งบประมาณนั้น ให้แล้วเสร็จภายในวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นี้”

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts