มรส.ระดมสรรพกำลังหัวกะทิ เร่งขับเคลื่อนศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
อธิการบดีฯ เผย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หวังให้ มรส.เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์ Agritech and Innovation Center (AIC) เพราะเชื่อมั่นองค์ความรู้ที่มีศักยภาพของบุคลากร
เมื่อเวลา 13.00 น. (25 พฤษภาคม 2563) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นประสานงานจัดประชุมระดมความคิดขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี (Agritech and Innovation Center : AIC) ณ ห้องราชพฤกษ์ 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมีผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ได้มีผู้บริหารและประธานหลักสูตรจากสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมทั้งผู้แทนจากฝ่ายอาคารและสถานที่ และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (UBI)
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรจังหวัด สุราษฎร์ธานี (Agritech and Innovation Center : AIC) โดยให้บุคลากรผู้เกี่ยวข้องเสนอแนวคิดตามศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีส่วนร่วมในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวว่าผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้มีการประชุมร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทางจังหวัดฯมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรของจังหวัดสุราษฎร์ธานี (Agritech and Innovation Center : AIC) โดยเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และสรรพกำลังของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ เป็นที่พึ่งของชุมชนท้องถิ่น และสามารถบูรณาการต่อไปได้ในอนาคต อีกทั้งเป็นแนวคิดในการพลิกโฉมตามนโยบายของมหาวิทยาลัยด้วย
ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ชี้แจงถึงพื้นที่ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว 3 แห่ง คือ ด้านหลังเรือนไทย 4 ภาค จำนวน 24 ไร่ พื้นที่ของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จำนวน 10 ไร่ และพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรเเละเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี อำเภอพนม อีกจำนวน 200 ไร่ โดยที่ประชุมได้นัดหมายการเดินทางสำรวจพื้นที่ดังกล่าวในวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 นี้ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของศูนย์AIC จะต้องดำเนินการภายใต้แนวความคิด 4 ด้านคือ 1. ธุรกิจการเกษตร 2. ฟาร์มอัจฉริยะ 3. ระบบ E-Commerce 4. BIG Data and Gov Tech
ด้าน ผศ.ดร.ลักษมี ชัยเจริญวิมลกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงกระบวนการทั้ง 4 ด้านว่า จะต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน คือศูนย์วิทยาศาสตร์ หน่วยงานสาขาวิชาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (UBI) พร้อมทั้งงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้วิเคราะห์การดำเนินงานได้ 13 งาน คือ 1. การพัฒนาองค์ความรู้ ระยะสั้นและอบรม 2. งานวิเคราะห์ 3. สปาและสุขภาพ 4. งานวิจัยด้านเกษตรและนวัตกรรม 5. การสร้าง Touch point กับองค์กรภาคประชาชน 6.การถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมสู่ชุมชน 7. การออกแบบและแปรรูปผลิตภัณฑ์ 8. งานพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ 9. การตลาดออนไลน์ 10. โซล่าโฟลทติ้ง 11. Smart farm 12. การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของมะพร้าวและข้าวห้อมไชยา 13. การรวบรวมข้อมูลและสร้างเครือข่าย
อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีมติให้สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวคิดโครงการเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานในพื้นที่บริเวณหลังเรือนไทยสี่ภาค ส่งไปยังผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกับฝ่ายนโยบายและแผน วิศวกรและสถาปนิกจากฝ่ายอาคารและสถานที่อีกครั้ง
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ รูปภาพ