งานบริการวิชาการฯร่วมเสวนาสุขภาวะชาวสวนยาง ถกปัญหาราคาตก–กระทบการศึกษา พร้อมหาแนวทางยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ผช.ฝ่ายบริการวิชาการ เผย มรส.ไม่นิ่งดูดาย เร่งหารือนำองค์ความรู้สู้ปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตทุกมิติ หวังเปลี่ยนทิศแก้วิกฤตให้ชุมชนท้องถิ่น

…..เมื่อเวลา 09.00 น. (20 ธันวาคม 2560) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี โดยดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เดินทางไปร่วมการเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะชาวสวนยาง ณ ห้องประชุม 5 อาคารอิมแพค ฟอรั่มเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งการเสวนาได้มีนักวิชาการ กลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมแสดงความคิดแนวทางการแก้ปัญหาและประเด็นที่ส่งผลกระทบของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยสถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม

…..ทั้งนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวถึงข้อสรุปในการเสวนาว่า “จากที่ได้ร่วมพูดคุยกับนักวิชาการและหน่วยงานหลายฝ่าย ซึ่งได้เสนอแนวทางที่สถาบันการศึกษาควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ราคายางพาราตกต่ำ ทั้งการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่สามารถเรียนต่อได้ของนักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบ การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสวนยาง รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อหาแนวทางการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปสร้างเป็นแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาวะให้กับชาวชุมชนท้องถิ่น ตามหลักคิดในการสร้างสังคมสุขภาวะต่อไป”

…..ในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ดร.สมปราชญ์ ได้ให้ความเห็นว่า “งานบริการวิชาการฯ จะประสานและร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย เพื่อสำรวจว่ามีนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีตามระดับของความเดือดร้อนและหากมีกรณีใดที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งจะต้องเสนอผู้บริการให้รับทราบทันที

…..ส่วนในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวสวนยาง “จากที่เคยได้ร่วมพูดคุยกับชาวชุมชนท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพดังกล่าว พบว่ายังประสบปัญหากับโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับต้นยางพารา เช่น โรคราแป้ง โรคใบร่วง เป็นต้น งานบริการวิชาการฯจะเร่งประสานเครือข่ายทั้งในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอก ร่วมหารือและระดมความคิดหาแนวทางแก้ปัญหาพร้อมทั้งแนวทางการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชาวชุมชนผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวด้วย

…..อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ขอเน้นย้ำว่า จะไม่นิ่งนอนใจและจะเร่งระดมความคิดทุกวิถีทาง เพื่อผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  โดยมีเป้าหมายในการนำองค์ความรู้ที่มีขยายไปยังภาคประชาคมในทุกมิติ”

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts