งานบริการวิชาการฯ เร่งติดตาม การแปรรูปผลผลิตชุมชนขุนทะเล ผช.ฝ่ายบริการฯนำทีมรุดเยี่ยม ร่วมหารือแกนนำหมู่ 1 หวังนำร่องขนมไทยอบกรอบ

ด้าน UBI เล็งช่องทางการตลาดถั่วตัด ไปไกลทั่วประเทศ เห็นพ้องเน้นธัญพืชเป็นส่วนประกอบเพื่อรูปแบบที่แตกต่าง ด้านแกนนำหมู่บ้าน ฮึด! กำหนดวันร่วมเรียนรู้การแปรรูปกับ FOOD SCI

…..เมื่อเวลา 13.00 น. (19 ธันวาคม 2560) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมด้วยตัวแทนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI และ อาจารย์ตัวแทนจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินไปยัง ศาลาประชาคม หมู่ที่ 1 ตำบลขุนทะเล เพื่อติดตาม และขยายผลการดำเนินงานในการแปรรูปผลิตผลชุมชน ซึ่งเนื่องมาจากผลการประชุมหารือตามโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดทำแผนการดำเนินงานการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ของชุมชนขุนทะเล พร้อมทั้ง ยกระดับชีวิตเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต โดยการประสานกับเครือข่ายหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์คอมพิวเตอร์ และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาด และได้ประชุมติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ

…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์  วุฒิจันทร์  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวว่า จากมติที่ประชุมหารือในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ได้ข้อสรุปว่า ทุกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากชุมชนขุนทะเล จะใช้ชื่อแบรนด์ “ขุนเล” ซึ่งวันนี้ได้นำทีมจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มาร่วมพูดคุยกับแกนนำหมู่ที่ 1 เพื่อขยายผลการดำเนินงานและเตรียมพร้อมในการแปรรูปอาหารและคิดค้นช่องทางการตลาด ซึ่งหมู่ 1 ได้ทำขนมหวานอบแห้งและถั่วตัดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยขนมดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทอาหารที่ชาวชุมชนได้ทำการผลิตทุกวัน ดังนั้น ในวันนี้จึงอยากได้รายละเอียดข้อสรุปในการสนทนา เพื่อคิดหาแนวทางในการผลิต เช่น สินค้าที่ต้องการแปรรูปมีวิธีการแปรรูปอย่างไร  และทิศทางการตลาดเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

…..นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น เผยว่า ขนมที่หมู่ 1 ได้ทำการผลิตทุกวันและขึ้นชื่อ คือ ถั่วตัดและขนมไทยหลายชนิด เช่น ฝอยทอง,ทองหยิบ,ทองหยอด ซึ่งกรณีที่เป็นขนมไทยได้มีแนวคิดว่าจะต้องพัฒนาเป็นของฝากได้โดยการอบแห้ง ดังนั้นประเด็นที่จะต้องหารือกันในวันนี้คือ กำหนดว่า 1.ขนมที่จะอบแห้งมีกี่ชนิด 2.มีกรรมวิธีการทำอย่างไร 3.กำหนดนัดหมายว่าจะเริ่มทำเมื่อไหร่ 4.หลังทำเสร็จ จะใช้บรรจุภัณฑ์รูปแบบไหน  และ 5. ช่องทางการตลาดจะเป็นไปในทิศทางใด

…..ด้าน อาจารย์เตชธรรม สังข์คร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ผู้ทำหน้าที่คิดค้นช่องทางการตลาดและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ถั่วตัด ช่องทางการตลาดอาจมีช่องทางการตลาดที่เติบโตและขยายได้อย่างรวดเร็ว เพียงต้องมีการแปรรูปให้แตกต่างจากที่อื่น เช่น การใช้ธัญพืชเป็นส่วนประกอบในการทำถั่วตัด และน่าจะจัดทำแบบพิมพ์ที่แตกต่างกันเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น รูปหัวใจ หรือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนขุนทะเล และรสชาดอาจเป็นรสชาดเฉพาะของขุนทะเลคือไม่หวานจนเกินไป หรือแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจะต้องอยู่ภายใต้แบรนด์ขุนเลเท่านั้น  ในส่วนของการตลาด จะต้องวิเคราะห์ว่ามีความต้องการและรองรับมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงอยากเรียนว่าจะต้องทดลองทำและทยอยผลิตให้ตรงกับความต้องการตลาดในเบื้องต้น

…..ขณะที่นางเกศิณี รอบคอบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลขุนทะเล กล่าวว่า ปัญหาในตอนนี้คือ สถานที่ในการผลิตอาหารที่สามารถให้สมาชิกในหมู่บ้านรวมกลุ่มได้อย่างไม่แนนอน ในความคิดอาจใช้อาคารบริเวณศาลาประชาคมไปก่อน นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่มทำขนมยังไม่ทราบวิธีการแปรรูป ดังนั้นจึงอยากเรียนรู้ให้เร็วที่สุด

…..ผลจากการหารือมีมติให้ดำเนินการแปรรูปขนม 3 ชนิด คือ ถั่วตัด ขนมฝอยทอง และ ขนมทองหยอด โดยกำหนดวันอบรมวิธีการทำขนมไทยอบแห้ง ในวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลา 08.30 น. – 16.00 น. ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง ตัวแทนอาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จะนำเอาตัวอย่างขนมไทยที่ชาวชุมชนหมู่ 1 ไปทดลองอบแห้ง ในวันที่ 8 มกราคม 2561 ซึ่งจะรูปแบบตัวอย่างขนมที่พร้อมจำหน่าย

…..ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ชุมชนได้รับทราบถึงเจตนารมย์ที่มุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยฯ ในการช่วยเหลือ และยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และขอให้เชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยเป็นของทุกๆคน ที่เป็นกลไกในการเสริมสร้างพลังความคิด พลังกาย และพลังใจ ตามปณิธานมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน/ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts