มรส. จัดประชุมโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง หาแนวทางขับเคลื่อนโครงการพร้อมเตรียมแผนหลังรอรัฐบาลเคาะ ได้ไปต่อหรือล็อคยาว
รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ ย้ำทุกคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงต้องเตรียมรับสถานการณ์และกำหนดแผนการดำเนินงานในอนาคตให้เป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อเวลา 10.00 น. (13 พฤษภาคม 2563) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็น พี่เลี้ยง(โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ ห้องราชพฤกษ์ 3 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมี ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ เป็นประธานในการประชุม
ทั้งนี้ได้มีทีมคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว
โดยรองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ ได้กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการหาแนวทางการปรับแผนดำเนินงานโครงการฯในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 และข้อกำหนดโครงการ(TOR – Term of Reference) เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมุ่งเน้นไปที่โรงเรียนมัธยมเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ของนักเรียนในการศึกษาต่อโดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยในการตัดสินใจศึกษาต่อ
ด้านนายอรุณ หนูขาว ได้เปิดเผยถึง การจัดสรรเงินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งมีการอนุมัติงบประมาณในงวดแรกโครงการประเภทที่ 2 งวดที่ 1 จากสป.อว. 50% ของการดำเนินงาน คือ 1.โครงการค่าย Young Programmer 2. โครงการค่ายยุวชนคนรักษ์ สมุย 3. โครงการพัฒนาสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 4. โครงการภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเบื้องต้น และ 5.โครงการอบรมมัคคุเทศก์น้อย ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมประชุมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทราบว่าเมื่อเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีมีสัดส่วนในการขออนุมัติโครงการค่อนข้างน้อย ซึ่งอยากชี้แจงให้คณาจารย์ได้ทราบและสนับสนุนให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่แสดงศักยภาพและแนวคิดใหม่ๆในการจัดกิจกรรม/โครงการและขออนุมัติโครงการจากสป.อว.เพิ่มมากขึ้นในปีงบประมาณ 2564
ขณะที่ ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า ทุกโครงการมีข้อสรุปค่อนข้างเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือต้องรอสถานการณ์ความเป็นไปของรัฐบาลให้มีความแน่นอนและสามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ซึ่งบางโครงการมีแผนรองรับโดยการประสานไปยังผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายแล้ว แต่ทั้งนี้หลังจากที่มีการปลดล็อค มหาวิทยาลัยจะเชิญคณะทำงานเข้าประชุมทำความเข้าใจอีกครั้ง อย่างไรก็ตามขอให้ทีมคณะทำงาน เตรียมแผนการดำเนินงานสำรองไว้ให้เป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ เพราะในอนาคตข้างหน้าไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ รูปภาพ