งานบริการวิชาการฯ ร่วมประชุมหารือ วนช.ผุดโครงการ SRU TOUR

…..ผช.ฝ่ายบริการวิชาการ เห็นชอบทัวร์มรส 3 ที่ อาคารสำนักงานอธิการบดี(ใหม่) – หอประชุม วชิราลงกรณ – หอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ เล็งยกระดับหอประชุมฯ เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ

…..เมื่อเวลา 14.00 น. (29 มกราคม 2561) งานบริการบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น โดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เข้าร่วมประชุมและพิจารณาโครงการ SRU TOUR โดยมีผู้แทนจากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน ทั้งนี้โครงการ SRU TOUR มีอาจารย์เกสสิณี ตรีพงศ์พันธุ์ เป็นผู้ริเริ่มและจัดทำแผนในการนำความรู้จากหลักสูตรการเรียนการสอน มาสู่การปฏิบัติซึ่งมีนักศึกษาเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการด้วย

…..อาจารย์เกสสิณี ตรีพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้กล่าวถึงการดำเนินงานว่า “เมื่อนำบริบทจากกิจกรรมของหน่วยงานภายนอกที่ขอความอนุเคราะห์เข้ามาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงเล็งเห็นความสำคัญของการทัวร์มหาวิทยาลัย และมีความคิดที่จะทำโมเดลนี้เพื่อให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานและสามารถเป็นโมเดลให้กับคณะอื่นด้วย ซึ่งเบื้องต้นได้พิจารณาว่าสถานที่ที่น่าสนใจในมหาวิทยาลัยมีที่ใดบ้าง ซึ่งได้นำมาสรุปว่า 1.หอประชุมวชิราลงกรณ 2. อาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ และ 3.หอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ ทั้งนี้ในอนาคตมีความคิดที่จะเสนอกับมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับหอประชุมวชิราลงกรณ ให้เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติที่มีความพร้อมในการจัดงานระดับชาติและนานาชาติซึ่งจะต้องหาข้อมูลและองค์ประกอบต่างในการขับเคลื่อนอีกสักระยะ นอกจากนี้การดำเนินโครงการ SRU TOUR ทางคณะผู้รับผิดชอบโครงการได้ให้นักศึกษาไปสำรวจและวิเคราะห์ความน่าสนใจของสถานที่ซึ่งได้นำมาสรุปและพิจารณาในเบื้องต้นแล้วโดยแบ่งประเด็นการนำเสนอว่า หอพุทธทาสธรรมโฆษณ์จะต้องนำเสนอในเรื่องของวิถีชีวิตและประวัติของท่านพุทธทาส คติธรรมคำสอน และหนังสือเก่า ในส่วนของเรือนไทยสี่ภาคก็เป็นสถานที่ที่น่าสนใจโดยจะนำเสนอในเรื่องราวของสถาปัตยกรรม ความแตกต่างของไม้ที่ใช้ปลูกสร้าง ในส่วนของอาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ ซึ่งบริเวณน้ำพุและบนดาดฟ้าของอาคารสามารถเป็นจุดชมวิว ภูมิทัศน์บริเวณมหาวิทยาลัยได้ ก็มีความน่าสนใจเช่นกัน


…..นอกจากนี้ทางผู้ดำเนินโครงการได้พิจารณาองค์ประกอบที่สามารถนำเป็นข้อมูลเสนอเรื่องราวของหอประชุมวชิราลงกรณได้ว่านอกจากใช้เป็นหอประชุมแล้วยังเป็นสถานที่ที่สามารถใช้งานได้ทุกตารางนิ้ว เช่น ด้านล่างเป็นงานของกองพัฒนานักศึกษา เป็นสถานที่ที่ใช้ในการรับพระราชทานปริญญาบัตร และเป็นสถานที่ในการจัดงานสำคัญต่างๆในประดับประเทศ และที่สำคัญภายในยังมีห้องประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ด้วย

…..ด้าน ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้ให้ความเห็นว่า จากที่ได้ฟังการนำเสนอโครงการ SRU TOUR ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยวเป็นแม่งานในวันนี้ มีความเห็นว่าควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยต่างๆมากมาย ขอความอนุเคราะห์เข้ามาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญมีนักวิชาการ ผู้บริหารระดับประเทศที่เดินทางมาประชุมหรือร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็จะทำให้องคาพยพอื่นรู้จักเรามากขึ้น อย่างไรก็ตามได้ให้ข้อเสนอแนะกับคณะผู้ดำเนินการว่า ควรจัดทำ STORY เพื่อเสนอเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ ความสำคัญและเสน่ห์ของสถานที่แต่ละแห่งว่าเป็นอย่างไร เช่น เรือนไทยสี่ภาค มีสถาปัตยกรรมเป็นแบบใด อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการปลูกสร้างและออกแบบ รายละเอียดของหอพุทธทาสนอกจากจะให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และความเก่าแก่ของหนังสือแล้วควรเพิ่มเติมในเรื่องของการใช้พื้นที่ในการจัดงานตามเทศกาล เช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง และงานประเพณีต่างๆของชาวราชภัฏและชาวสุราษฎร์ฯ ในส่วนของอาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ ผู้นำทัวร์จะต้องทราบถึงรายละเอียดของพื้นที่ทั้งหมดของอาคาร เช่น หน่วยงานใดบ้างที่ปฏิบัติงานภายในอาคาร แม้แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่นทำไมถึงต้องใช้น้ำพุลักษณะนี้ และดอกไม้ที่ประดับตกแต่งเป็นดอกไม้ที่มหาวิทยาลัยปลูกขึ้นเองหรือเป็นดอกไม้ที่เราให้การสนับสนุนส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นขุนทะเล เป็นต้น

…..นอกจากนี้ ยังมีส่วนของหอสมุดใหม่ที่สามารถเป็นสถานที่ในการทัวร์ได้ แต่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีแอปพลิเคชั่น คือ เรื่องราวของหนังสือสามมิติ โดยตัวรูปเล่มหนังสือมีลักษณะเหมือนหนังสืออ่านทั่วไป แต่การจะใช้หนังสือ AR ให้สมบูรณ์แบบจริงจะต้องใช้งานรวมกับแอปพลิเคชั่นที่ออกแบบมาเพื่อหนังสือนี้โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั่วไป และสุดท้ายของข้อมูลการทำโครงการนี้ คือ อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นสถานศึกษาหนึ่งที่คนทั่วประเทศรู้จัก และมีลักษณะเฉพาะที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนได้ “ราชภัฏสุราษฎร์ธานีมีสิ่งที่น่าสนใจมากมายแต่เรายังไม่มีระบบการแนะนำการนำทัวร์ และการประชาสัมพันธ์ในเชิงประจักษ์ และที่อาจจะตั้งข้อสังเกตว่าบางคนยังไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัยมีเรื่องราวอะไรบ้างที่มีคุณค่าและสามารถนำไปเผยแพร่ได้ โครงการนี้จึงเป็นข้อมูลที่ทำให้เรารู้จักมหาวิทยาลัยมากขึ้นว่าแท้จริงราชภัฏสุราษฎร์ฯมีความสำคัญ มีความงดงามและมีคุณค่าเพียงใด ดังนั้น โครงการ SRU TOUR จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่มหาวิทยาลัยควรสนับสนุน”

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts