ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มรส. ร่วมหารือเลขานุการสภาเด็กฯ และเลขานุการชมรมสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี เห็นพ้องกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคมในทุกมิต
สภาเด็กและเยาวชนสุดปลื้ม มรส.ให้ความสำคัญ ยันร่วมด้วยช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ด้านชมรมสตรี เสนอขอให้มหาวิทยาลัยฯเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือสตรี เด็กและเยาวชน
…..เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้ร่วมประชุมหารือกับตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยตัวแทนจากชมรมสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคณะ ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยการประชุมดังกล่าวได้พูดคุยในประเด็นของการให้ความช่วยเหลือ และสร้างเครือข่ายความมือในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมให้กับ กลุ่มสตรี เด็ก และเยาวชน เพื่อยกระดับชีวิต และการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม พร้อมทั้ง การหาแนวทางการประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงาน นอกจากนี้ได้พิจารณาเรื่องการหาแนวทางการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
…..โดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น หรือแม้แต่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ถ้ามีความต้องการอยากให้มหาวิทยาลัยฯเข้าไปดำเนินการ สนับสนุนหรือส่งเสริมในด้านใดขอให้เข้ามาพูดคุยและร่วมกันหารือในลักษณะนี้ เนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน ว่าที่อธิการบดี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีปณิธานอันแน่วแน่ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี คือมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน และเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนทุกคน
…..ซึ่งประเด็นที่จะร่วมพูดคุยในวันนี้ คือ ถ้าสภาเด็กและเยาวชน อยากให้มหาวิทยาลัยฯอนุเคราะห์ในเรื่องของการใช้ห้องประชุม หรือสถานที่ ขอให้ดำเนินการทำหนังสือขอความอนุเคราะห์มายังมหาวิทยาลัยฯ และระบุจำนวนผู้ร่วมประชุม พร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประชุม เพื่อที่มหาวิทยาลัยจะสามารถกำหนดสถานที่ให้เหมาะสมกับจำนวนคนได้ และประเด็นที่สองที่อยากหารือคือมหาวิทยาลัยมีความประสงค์ให้ทางสภาเด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมในศาสตร์ต่างๆของมหาวิทยาลัยฯ เช่น การนำเยาวชนเข้ามาศึกษาดูงานตามคณะ อธิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่ค่อยมีใครทราบว่าสาขาวิชาดังกล่าวมีสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลเป็นจำนวนไม่น้อย และมีความน่าสนใจมาก นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีหน่วยงานในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและสื่อต่างๆ เช่น สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายสื่อสารองค์กร สถานีวิทยุ เป็นต้น ในส่วนของการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยฯ ยังมีสำนักศิลปะและวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของชาวสุราษฎร์ธานี ดังนั้น จึงอยากให้สภาเด็กและเยาวชนนำเด็กๆเข้ามาเยี่ยมชมสิ่งต่างๆเหล่านี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแนวทางในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและที่สำคัญการตัดสินใจเรียนในจังหวัดของตนเองน่าจะเป็นการดีกว่าที่จะต้องไปเรียนที่อื่นเพราะประหยัดและสามารถอยู่กับครอบครัวได้
…..ทั้งนี้ผู้ช่วยอธิการบดีฯได้อธิบายถึงการให้ทุนการศึกษาว่า “หลายครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่อยากที่จะเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เรื่องนี้ผู้บริหารได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วว่าจะจัดหาทุนการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ แต่ไม่ใช่ทุน กยส. โดยทุนดังกล่าวอาจจะเป็นทุนของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้นักศึกษากู้ยืม และทยอยคืนทุนโดยการทำงานให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กเหล่านี้จะรับรู้ถึงคุณค่าของเงินที่เขาสามารถทำงานส่งตนเองเรียนได้โดยการทำงานพัฒนามหาวิทยาลัย และอีกประการคือจะเป็นการสร้างรากฐานการทำงานและสร้างความรู้สึกผูกพันกับมหาวิทยาลัยฯ”
…..ด้าน คุณเจษฏาภรณ์ ช่วยฤกษ์ เลขานุการสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เผยว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นอย่างยิ่งที่ให้โอกาสมาร่วมพูดคุย และให้ความอนุเคราะห์เรื่องสถานที่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้สภาเด็กและเยาวชนได้นำน้องๆมาเยี่ยมชม กิจกรรมของคณะต่างๆซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยทางสภาเด็กจะส่งหนังสือและกำหนดการการเขาศึกษาดูงานมายังมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ในส่วนที่อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือ คือการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพเบื้องต้น ในเรื่อง Infographices เทคโนโลยีพื้นฐาน หรือการตกแต่งภาพเบื้องต้น เพื่อให้น้องๆได้นำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาและสร้างสรรค์งานของตนเองได้ นอกจากนี้ เรื่องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทางสภาเด็กฯอยากจะขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาโคว์ต้าสำหรับเด็กที่ทำกิจกรรมและมีจิตอาสา เพราะธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้เกรดเฉลี่ยหรือผลการเรียนอาจจะไม่สูงเท่ากับเด็กที่เรียนอย่างเดียว ดังนั้นจึงอยากให้มหาวิทยาลัยพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
…..ด้าน คุณอัจฉราพรรณ หอมรส เลขานุการชมรมสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ชมรมสตรี มีข้อความหรือรายงานร้องเรียนมากมาย เช่น การทารุณกรรมเด็กและสตรี การกระทำชำเรา หรือปัญหาภายในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถให้ความเห็นหรือแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมาย ดังนั้นจึงอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือในเรื่องการให้ความรู้พื้นฐานด้านกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษาให้กับชมรมสตรี ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้ถูกระทำ หรือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ อยากเสนอเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การประชาสัมพันธ์ของดีในท้องถิ่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี การเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ตามท้องถิ่นต่างๆเพราะมีกลุ่มสตรี แม่บ้านที่รวมกลุ่มกันจัดทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของที่ระลึก และอาหารพื้นบ้าน ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือเรื่องช่องทางการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ในเรื่องดังกล่าว
…..ขณะที่ ผู้ช่วยอธิการบดีฯได้ให้ความเห็นว่า “มหาวิทยาลัยฯจะรับดำเนินการทุกเรื่อง เช่น การประชาสัมพันธ์ หรือการทำเว็บไซต์ตอนนี้ เรามีโครงการต่างๆมากมายที่เกี่ยวข้องกับการทำเว็บไซต์ ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาหาแนวทางร่วมกันกับสำนักวิทยบริการฯซึ่งมีหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้ ในส่วนของการให้คำปรึกษาหรือความรู้ในเรื่องกฎหมาย มหาวิทยาลัยฯ มีคณะนิติศาสตร์ ซึ่งได้จัดตั้งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาด้านปัญหาสิทธิมนุษยชน โดยสามารถเชื่อมโยงกับศูนย์กลางในกรุงเทพมหานครได้โดยตรง ดังนั้น จึงขอให้ไว้วางใจในเรื่องดังกล่าวมหาวิทยาลัยจะดำเนินการและช่วยเหลืออย่างเต็มที”
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงเวลาสามถึงสี่ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฯ หยุดนิ่งมาตลอด การดูแลให้ความช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ในยุคพลังแผ่นดิน ณ ปัจจุบันนี้ ขอให้ท้องถิ่นได้รับทราบถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีแห่งนี้จะไม่ทอดทิ้งชาวชุมชนท้องถิ่นให้ประสบปัญหาเพียงลำพังอีกต่อไป ขอให้คิดเสมอว่ามีปัญหาให้มาราชภัฏสุราษฎรธานี สิ่งใดที่มหาวิทยาลัยสามารถช่วยเหลือท้องถิ่นได้ เราจะรวมทุกสรรพกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ดังเช่นปณิธาน มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินให้มีพลัง
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี