งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จูงมือ UBI ลงพื้นที่หมู่ 4 ติดตามความก้าวหน้าโครงการสายใยรักฯ – เศรษฐกิจพอเพียง
…..แกนนำชุมชนคึกคัก ต้องการองค์ความรู้เสริมทักษะการทำผลิตภัณฑ์พวงหรีด – เครื่องแกง – มัลเบอรรี่ มรส.ไม่รีรอจัดให้ตามคำขอ เร่งประสานผู้เชี่ยวชาญ หวังยกระดับภูมิปัญญาต่อยอดผลผลิตเพิ่มมูลค่าชุมชนท้องถิ่น
…..เมื่อเวลา 12.45 น. (12 กุมภาพันธ์ 2561) คณะทำงานงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น นำโดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และคณะทำงานจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI โดยนางฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการศูนย์ฯ ได้เดินทางไปยังศาลาประชาคม หมู่ที่ 4 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้นำชุมชนและแกนนำหมู่บ้านให้การต้อนรับ
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงการพูดคุยและสอบถามการดำเนินงานตามที่ได้แจ้งไว้กับงานบริการวิชาการฯว่า หมู่ที่ 4 ได้ดำเนินกิจกรรมปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถจัดจำหน่ายตามช่องทางการตลาดที่เข้ามาสั่งซื้อโดยตรงจากชาวบ้านคือผักเหรียง หรือ ผักเหมียงที่เป็นผักสวนครัวขึ้นชื่อของชุมชนขุนทะเล ดังนั้น จึงได้พิจารณา ร่วมกับ คุณฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการศูนย์ UBI และ กลุ่มแกนนำในพื้นที่ พบว่าผักดังกล่าวสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับครัวเรือนหมู่ที่ 4 ได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีความคิดที่จะสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านอื่นที่ชาวบ้านมีความต้องการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าหมู่บ้านดังกล่าวต้องการฝึกอบรมด้านการทำพวงหรีด และดอกไม้จันทน์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีการทางศาสนา
…..นอกจากนี้ การทำผลิตภัณฑ์เครื่องแกงก็เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่กลุ่มแกนนำมีความสนใจ เนื่องจากได้เริ่มการทำส่วนผสมเครื่องแกงภายในหมู่บ้านกลุ่มเล็กๆด้วยตนเองแต่ยังขาดความรู้เรื่องการทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องแกงมีระยะเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้นและได้มาตราฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อมุ่งหวังที่จะต่อยอดเป็นผลิตสินค้า OTOP ภายใต้แบรนด์ขุนเลในอนาคต
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ได้กล่าวถึงปฏิกิริยาและผลตอบรับจากกลุ่มแกนนำหมู่ที่ 4 ว่า หมู่บ้านดังกล่าวมีเสน่ห์ในเรื่องของความต้องการในการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆโดยให้มหาวิทยาลัยอนุเคราะห์องค์ความรู้และประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญ ยกตัวอย่างเช่น การเพาะปลูกต้นมัลเบอร์รี ซึ่งทางงานบริการวิชาการฯจะประสานไปยังกรมหม่อนไหม เพื่อขอความอนุเคราะห์วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกต้นมัลเบอร์รีเดินทางมาให้ความรู้ชาวบ้านหมู่ที่ 6 และ หมู่ที่ 4 พร้อมกัน
…..อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นจะเร่งดำเนินการประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประดิษฐ์ ดอกไม้จันทน์และพวงหรีดโดยพุ่งเป้าไปที่นางปัทมา ฤทธิกัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการรวมกลุ่มสตรีแม่บ้าน ร่วมกันประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์และพวงหรีดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเป็นผู้ให้ความรู้และแนะแนวเรื่องการบริหารจัดการช่องทางการตลาดหรือเทคนิควิธีการประดิษฐ์ที่แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป นอกจากนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการการทำผลิตภัณฑ์เครื่องแกง และการอบรมการเพาะปลูกต้นมัลเบอร์รี่ ทางคณะทำงานจะเร่งประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญและจัดการฝึกอบรมภายในเดือนมีนาคม 2561 นี้
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี