งานบริการวิชาการฯ นำทีมผู้ขับเคลื่อนโครงการสายใยรักฯ–เศรษฐกิจพอเพียง ติดตามผลการดำเนินงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ขุนเล
หน่วยงานร่วมเครือข่ายเครื่องร้อน เร่งขยายผลนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อแปรรูป หวังผลเพิ่มมูลค่า ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนท้องถิ่นโดยเร็ว ด้านผู้ช่วยอธิการบดีฯย้ำ ราชภัฏสุราษฎร์ฯเป็นของชุมชนท้องถิ่น
…..เมื่อเวลา 13.00 น (21 ธันวาคม 2560) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น นำโดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและคณะ พร้อมทั้ง ผู้แทนจากศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI) นำโดย คุณฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการศูนย์ และผู้แทนจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย ดร.สุพรรณิการ์ ศรีบัวทอง รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและบริการวิชาการวิชา ได้เดินทางไปยังศาลาประชาคม หมู่ที่ 2 ต.ขุนทะเล เพื่อติดตามและขยายผลการดำเนินงานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ตามโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ได้มีแกนนำชุมชน นำโดยนายสุรินทร์ รักษ์เมือง ผู้ใหญ่บ้านและคณะ เข้าร่วมการหารือในการดำเนินงานดังกล่าวด้วย…..เนื่องมาจากผลการประชุมหารือในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และ ผู้ดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งแกนนำหมู่บ้านในตำบลขุนทะเลทั้ง 10 หมู่ ร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงานการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ของชุมชนขุนทะเล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ซึ่งได้ประชุมติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะนั้น
…..ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงข้อสรุปในการร่วมหารือในโครงการดังกล่าวว่า “ ผลิตภัณฑ์ที่ชาวชุมชนขุนทะเลหมู่ที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการพัฒนาต่อยอดคือ ทุเรียนทอด ซึ่งได้มีการผลิตอยู่แล้ว เพียงแต่ยังต้องยกระดับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการตลาดเพื่อให้สามารถก่อเกิดรายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดำเนินการอบรมให้ในวันที่ 25 มกราคม 2561 เวลา 08.30 น. – 16.00 น. ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตัวแทนอาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จะนำเอาตัวอย่างทุเรียนทอดที่ชาวชุมชนหมู่ 2 ไปทดลองทำและพัฒนาสูตรใหม่ๆก่อน จากนั้นจะต่อยอดในด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และด้านการตลาดออนไลน์ต่อไป”
…..นอกจากนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จะเดินหน้าในการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนขุนทะเลอย่างเต็มกำลัง โดยจะพยายามเดินทางไปร่วมพูดคุยและหารือตามแผนการดำเนินงานจากผลการประชุมเป็นระยะๆให้ครบทุกหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าชาวชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ต้องการให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือและพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชนอย่างจริงจัง ซึ่งได้พูดคุยและให้คำมั่นสัญญาทุกครั้งที่ร่วมกันหารือและเดินทางไปติดตามความก้าวหน้าในแต่ละหมู่บ้าน โดยกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นของทุกๆคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ ดังนั้นหากมีความเดือนร้อนทุกข์ใจหรือมีปัญหาเรื่องใดๆก็ตามขอให้พึงระลึกอยู่เสมอว่าราชภัฏสุราษฎร์ฯ พร้อมที่จะเคียงข้างและจะระดมสรรพกำลังช่วยเหลือชาวชุมชนอย่างไม่ย่อท้อเพื่อแก้ไขและฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี