งานบริการวิชาการฯจัดประชุมเตรียมความพร้อมตัวแทนคณะผู้สนองงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (อพ.สธ. มรส.)

ผู้ช่วยอธิการบดีฯเผย อยากให้ผลการดำเนินงานออกมาดีที่สุดเพราะเป็นการสนองงานพระองค์ท่าน ด้านหัวหน้างานบริการฯ ห่วง เรื่องการจัดเตรียมอุปกรณ์ เน้นย้ำให้ตรวจสอบอย่าให้เกิดอุปสรรคกับวัสดุที่จำเป็นต้องใช้

…..เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นดำเนินการจัดประชุมเตรียมความพร้อมการร่วมจัดนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น ณ ห้องการเรียนรู้ 5 อาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

…..โดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เผยว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ได้เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2 /2560 และการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น ครั้งที่ 2/2560 ณ ห้องประชุมศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงานเตรียมการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี ในระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2560 นี้ ซึ่งอยากพูดคุยในภาพรวมของการดำเนินงานว่า “เต็นท์ของการจัดแสดงมีลักษณะเป็น Outdoor และรถยนต์ที่บรรทุกวัสดุอุปกรณ์ไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่จัดแสดงได้ เนื่องจากสภาพถนนที่ทำใหม่ยังไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น สถานที่จอดรถขนอุปกรณ์กับพื้นที่การจัดแสดงจึงมีระยะห่างกันประมาณ 500 เมตร นอกจากนี้ ขอเน้นเรื่องการพกบัตรประจำตัวผู้มีหน้าที่ในการดำเนินโครงการดังกล่าวควรนำติดตัวอยู่ตลอดเวลาห้ามลืมเป็นอันขาด และในส่วนของการจัดงานประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. หน่วยงานร่วมสนองงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน งานทรัพยากรท้องถิ่น และ 3. งานนิทรรศการปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งกำหนดการฉบับสมบูรณ์และรายละเอียดทั้งหมดสามารถ Download ได้จากเว็บไซต์ อพ.สธ.”

…..ด้าน นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากการเตรียมจัดนิทรรศการดังกล่าวค่อนข้างเร่งด่วนในทุกเรื่องเพราะเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยต้องเตรียมการในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งนี้รายละเอียดของการจัดนิทรรศการจะต้องสอดคล้องกับรายงานผลการดำเนินงานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในส่วนของวันเวลา และรูปแบบของการจัดนิทรรศการฯ จะดำเนินการจัดในระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2560 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมฯและทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงาน อพ.สธ. ทั้งในส่วนของหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน งานทรัพยากรท้องถิ่น และนิทรรศการปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งสิ้น 118 หน่วยงาน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

…..นอกจากนี้ หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้แจ้งกำหนดการการเดินทางว่า “ทางผู้ประสานงานขอให้ตัวแทนจากคณะทุกท่านเดินทางขึ้นรถประจำทาง ซึ่งมีรถตู้ จำนวน 2 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อขนย้ายอุปกรณ์ จำนวน 1 คัน โดยเริ่มออกเดินทางในเวลา 07.00 น. ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ณ หน้าอาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำเรื่องการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ประกอบการจัดแสดงนิทรรศการ ควรตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนและไม่ควรลืมนำอุปกรณ์ที่จำเป็นเพราะเนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการหาวัสดุดังกล่าวมาทดแทน และในส่วนของการแต่งกายขอให้คณาจารย์และเจ้าหน้าที่สวมใส่ในชุดสีม่วง ผู้ชายให้สวมสูททับ และผู้หญิงขอให้เป็นชุดสีม่วงและสวมสูทเช่นกัน ด้านนักศึกษาที่ร่วมเดินทางไปจัดกิจกรรมดังกล่าวขอกำชับให้ใส่ชุดนักศึกษาให้เรียบร้อยและขอเน้นย้ำไปยังอาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาด้วย”

…..ขณะที่ ผู้ช่วยอธิการฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “การดำเนินจัดนิทรรศการในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในครั้งนี้ ได้เรียนให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน ว่าที่อธิการบดี ได้รับทราบและท่านได้กล่าวฝากมายังทีมงานว่า งานนี้เป็นเกียรติต่อมหาวิทยาลัยมากเพราะเป็นการสนองงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงขอให้ทุกท่านทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ถ้ามีอุปสรรคหรือปัญหาในเรื่องใดขอให้ประสานมายังมหาวิทยาลัยทันที พร้อมทั้งขอบคุณที่เสียสละเดินทางไปเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยด้วย”

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts