2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 65 พรรษา

พระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 (ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม สัปตศก) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายพระประสูติกาล และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

พระนาม “สิรินธร” นั้น นำมาจากสร้อยพระนามของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

สำหรับสร้อยพระนาม “กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” ประกอบขึ้นจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบุพการี 3 พระองค์ ได้แก่ “กิติ” มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระมารดา (แม่) ส่วน “วัฒนา” มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) สมเด็จพระปัยยิกา (ย่าทวด) และ “อดุล” มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระอัยกา (ปู่)

การศึกษา เมื่อปีวันที่ 2 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2501 พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษาทรงมีพระสหายร่วมชั้นเรียน 20 คน เป็นโอรสธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรหลานข้าราชการ ตลอดจนมหาดเล็ก ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาร่วมเรียนด้วยโดยปราศจากชั้นวรรณะ วิชาที่ทรงเรียนในชั้นอนุบาลนี้ คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลขคณิตและขับร้อง พระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรขณะนั้น ได้แก่ อาจารย์ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ อาจารย์ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ และอาจารย์ท่านผู้หญิงสุนามัน ประนิช เมื่อทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ได้ทรงสอบร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบได้ที่หนึ่ง ได้คะแนนรวมร้อยละ 96.60 อันนับว่าเป็นคะแนนสูงสุดสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่เจ็ด จึงทรงได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 31 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2511 และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ในปี พ.ศ. 2515 ก็ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ

หลังจากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น มีพระราชกิจมากจนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2 มหาวิทยาลัย พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้สำเร็จการศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน โดยทรงทำวิทยานิพนธ์ห้วข้อเรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้น พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 หลังจากนั้น พระองค์ทรงเข้าศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือสถาบันเอไอที ในหลักสูตรเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา จนได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบัน โดยพระองค์ได้ทรงประยุกต์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการทำแผนที่ของจังหวัดนราธิวาส

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4 พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักว่าสภาพการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีปัญหา เพราะนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาไทย มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการเข้าใจและใช้ภาษาไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงนำเสนอวิธีการสอนภาษาไทยในลักษณะนวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความสนใจในการเรียนภาษาไทยของนักเรียนและเป็นสื่อที่จะช่วยให้ครูสอนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

การสถาปนาพระอิสริยยศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงได้บำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่เสมอ ในด้านการพัฒนาบ้านเมือง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาและช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณในด้านต่าง ๆ นับเป็นการดูแลสอดส่องพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งต่างพระเนตรพระกรรณ ในด้านการพระศาสนา มีพระหฤทัยมั่นคงในพระรัตนตรัยและสนพระหฤทัยศึกษาหาความรู้ด้านศาสนาพุทธและศาสนาอื่นอย่างแตกฉาน ในส่วนราชการในพระองค์นั้น ก็ได้สนองพระเดชพระคุณในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาท เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติแห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณกันอยู่โดยทั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520

 

นับเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์ที่ 14 ในราชวงศ์จักรี ที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระ หรือ กรมพระยา และเป็นครั้งแรกที่สถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริย อุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

นับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า โดยยังทรงพระอิสริยยศ กรมสมเด็จพร และ สยามบรมราชกุมารี ตามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ

แหล่งที่มา : wikipedia

Similar Posts