ฝ่ายบริการวิชาการฯ เดินทางตรวจเยี่ยมให้กำลังนักศึกษา รปศ. ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯเผย นักศึกษามีศักยภาพ และเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของหลักสูตรตนเองด้านประธานสภาคณาจารย์ ชี้ชัด ทุกคณะฯต้องสนับสนุน ส่งเสริมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง
…..เมื่อเวลา 09.30 น. ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และ ดร.พลกฤต แสงอาวุธ ประธานสภาคณาจารย์ ได้ร่วมเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านวังทองสามัคคี อ.ท่าอุแท จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจและพูดคุยกับนักศึกษาที่ไปดำเนินการจัดโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในรายวิชาการประเมินโครงการ โดยมีนายชัยรัตน์ บุญนาค ผู้อำนวยการโรงเรียน ชำนาญการพิเศษ คณะครู อาจารย์ และผู้นำหมู่บ้านให้การต้อนรับ
…..โรงเรียนบ้านวังทองสามัคคี ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านป่าจาก ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โดยมีอาจารย์ผู้สอนจำแนกตามสายงานทั้งสิ้นจำนวน 6 คน ทั้งนี้นักศึกษาในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้เริ่มจัดกิจกรรมพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยมี ดร.พกฤต แสงอาวุธ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษารายวิชา
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวว่าเป้าหมายของการจัดโครงการไม่ใช่เพียงแค่ให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติเท่านั้น แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นการช่วยเหลือเกื้อกูล และปลุกจิตสำนึกถึงการเป็นผู้ให้ ซึ่งจากการที่ได้ร่วมพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนและคณาจารย์ก็ได้ทราบข้อมูลว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีความรู้ความสามารถและกระตือรือร้นต่อการทำโครงการ นอกจากนี้ยังสร้างความประทับใจและได้รับคำชื่นชมจากคนในชุมชนเป็นอย่างมาก
…..ขณะที่ ดร.พลกฤต แสงอาวุธ ประธานสภาคณาจารย์และอาจารย์ที่ปรึกษารายวิชาการประเมินโครงการ ในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวว่า เมื่อได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการจากผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูอาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ทราบถึงทัศนคติที่ชุมชนมีต่อนักศึกษา ซึ่งเป็นทัศนคติในเชิงบวก ทุกฝ่ายให้คำชื่นชมและกล่าวถึงศักยภาพของนักศึกษารวมทั้งการจัดกระบวนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่มีคุณภาพสามารถส่งเสริมให้ความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมต่อนักศึกษาซึ่งส่งผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในรายวิชาการประเมินโครงการ ของสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ได้กำหนดมาตรฐานที่เน้นการปฏิบัติจริง ตามแผนการดำเนินโครงการที่นักศึกษาได้ร่วมกันคิดและสร้างสรรคให้เกิดขึ้นจริงในชุมชนท้องถิ่น สุดท้ายนี้ จึงอยากจะสรุปผลจากการที่ได้ร่วมพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆว่า มหาวิทยาลัยและทุกคณะจะต้องให้การสนับสนุน กิจกรรมโครงการที่สอดแทรกไว้ในการจัดการเรียนการสอน และนำมาใช้ปฏิบัติจริงกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสถึงบริบทชุมชนวัฒนธรรมในท้องถิ่น และที่สำคัญยังเป็นการสร้างจิตวิญญาณในการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี