มรส. รุกช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วย Ecommerce เล็งยกระดับ Coaching ผู้ประกอบการ
รองอธิการบดี เผย เป็นการยกระดับพัฒนาช่องทางการตลาดที่คุ้มค่า ผู้ประกอบการคุ้มทุน ด้านงานบริการวิชาการฯคัดเลือกประชาชนเข้าร่วมอบรมหวังต่อยอดและสามารถเพิ่งพาตนเองได้
เมื่อเวลา 15.00 น. (15 พฤษภาคม 2563) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมหารือการยกระดับพัฒนาช่องทางการตลาดด้วยระบบ Ecommerce ณ ห้องราชพฤกษ์ 3 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ เป็นประธานในการประชุม
โดยรองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์กล่าวว่า เนื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานราชการการดำเนินงานทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มการสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานราชการและไม่มีข้อสังเกตจากหน่วยงาน สตง. ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยช่วยกันพิจารณาเรื่องราคา ความคุ้มค่าของการดำเนินงานดังกล่าว
ด้าน ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารเปิดเผยว่า จากการที่ได้เห็นบริษัท Vtac นำเสนอกระบวนการทำงานและเทคนิควิธีการสร้างแบรนด์ถือได้ว่ามีความคุ้มค่ามากเพราะใช้ช่องทางการตลาดที่ชัดเจนและวิธีการนำเสนอที่เป็นขั้นตอน โดยเฉพาะการ Coaching ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเริ่มต้นจากการปูพื้นฐานการสื่อสาร การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ และกระบวนการอื่นๆที่สามารถมองเห็นภาพในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่มีข้อสังเกตเรื่องของระยะเวลาว่าภายในสามเดือนทางบริษัทสามารถ Coaching ให้แก่ตัวแทนผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด และหลังจากการฝึกอบรมกระบวนการต่างๆ ทางชุมชนจะสามารถต่อยอดและบริหารจัดการด้วยตนเองได้ตลอดหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามจากการหารือกับทางบริษัท Vtac จะเป็นพี่เลี้ยงให้มหาวิทยาลัยตลอดระยะเวลา 6 เดือน
ขณะที่นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ชี้แจงว่า วันนี้ได้มีการพูดคุยกับบริษัท Vtac และมีการหารือร่วมกันกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด เช่น คณาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ โดยมีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็นคือ 1. เทคนิควิธีการสร้างระบบ Ecommerce ผลิตภัณฑ์จาก 3 จังหวัด มีจำนวน 30 กว่าชนิด โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นว่าทางบริษัทจะ ดีไซน์ไว้สำหรับผู้ประกอบการ 6 เพจ และ อีก 1 เพจที่เป็นแบรนด์มหาวิทยาลัยฯ 2. การร่วมกันพิจารณาเรื่องประมาณการราคา ระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วทางงานบริการวิชาการฯจะจัดเตรียมเอกสารในการทำสัญญาจัดซื้อ-จัดจ้าง และในส่วนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรมระบบดังกล่าวทางงานบริการวิชาการฯได้คัดเลือกไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ได้กล่าวเสริมว่า Ecommerce ถือเป็นกระบวนการทำงานที่ยกระดับคุณมาตรฐานของช่องทางการตลาดให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงให้ทุกคนร่วมมือและร่วมกันแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์ความคุ้มค่าและการต่อยอดไปในอนาคต เช่น การให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ระบบ หรือการกระจายช่องทางการตลาดทางเพจอื่นๆ
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ รูปภาพ