ดีเดย์ อบรมนมถั่วตัดธัญพืชและฝอยทองอบแห้ง ขุนเลหมู่ 1 ตบเท้าเข้าปฏิบัติการทำขนมแปรรูป หวังต่อยอดองค์ความรู้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

คณะวิทยาศาสตร์ฯ อ้าแขนรับการมาเยือนของชาวชุมชนขุนเลหมู่ 1 ดร.สุพรรณิการ์ จัดเต็มองค์ความรู้นำทีมสอนทำขนมแปรรูปเสริมทักษะอาชีพด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

…..เมื่อเวลา 09.00 น.(18 มกราคม 2561 งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนขุนทะเลแบบบูรณาการด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพแก่ชุมชน “ขุนเล” โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสรุปผลจากการประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 การติดตาม และขยายผลการดำเนินงานในการแปรรูปผลิตผลชุมชน ตามโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดทำแผนการดำเนินงานการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ของชุมชนขุนทะเล กำหนดให้มีการอบรมวิธีการทำขนมไทยอบแห้ง ในวันที่ 18 มกราคม 2561 นี้

…..ผศ.สุรินทร์ สมณะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในพิธีเปิดโครงการได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพยายามนำองค์ความรู้ในศาสตร์ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน ซึ่งเทศบาลตำบลขุนทะเลเป็นพื้นที่เป้าหมายในการให้บริการวิชาการแก่ท้องถิ่น โดยคณะฯได้ร่วมกับงานบริการวิชาการฯลงพื้นที่สำรวจความต้องการซึ่งพบว่าประชาชนต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการจัดอบรมและส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพเสริมและหาตลาดรองรับ ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการจัดโครงการนี้คือการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการที่แท้จริง

…..ขณะที่ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงโครงการครั้งนี้ว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ชุมชนเป้าหมายร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ผลสรุปว่า ประชาชนหมู่ที่ 1 ขุนทะเล มีความต้องการให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือโดยการนำองค์ความรู้ด้านการแปรรูปอาหารให้มีระยะเวลาในการบริโภคยาวนานขึ้น ซึ่งการทำขนมไทยเป็นอาชีพที่หมู่บ้านดังกล่าวทำขายทุกวันโดยตลาดในการวางจำหน่ายจะเป็นบริเวณพื้นที่ตำบลขุนทะเลและบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ดังนั้นเมื่อชาวบ้านสามารถทำการแปรรูปขนมไทยได้แล้วมหาวิทยาลัยจึงมีความคิดที่จะหาช่องทางตลาตเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งได้ร่วมพูดคุยกับคณะวิทยาการจัดการในเบื้องต้นแล้ว

…..ขณะที่ ดร.สุพรรณิการ์ ศรีบัวทอง รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแม่งานการจัดโครงการดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นว่า “การช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเป็นพันธกิจหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ฯและเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนละเป็นชุมชนต้นแบบที่นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนั้น การแปรรูปอาหารขนมไทยถั่วตัด ฝอยทองอบแห้ง ที่ต้องการยืดระยะเวลาในการบริโภคจึงเป็นพันธกิจที่คณะวิทย์สามารถนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการอาหารมาถ่ายทอดให้กับประชาชนได้ ซึ่งในวันนี้ได้เชิญคณาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารมาช่วยในการอบรมเชิงปฏิบัติการด้วย และคาดว่าวันนี้ชาวชุมชนที่ได้รับองค์ความรู้อย่างเต็มที่

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts