งานบริการวิชาการฯจัดประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปี 2561
ผช.ฝ่ายบริการวิชาการชี้แจง เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ และเป็นนโยบายระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนในท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง
…..เมื่อเวลา 09.00 น. (4 มกราคม 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นดำเนินการจัดประชุมโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปี 2561 ณ ห้องการเรียนรู้ 5 อาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
…..ทั้งนี้ได้มีคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆที่ดำเนินโครงการฯ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้ชี้แจงถึงความเป็นมาของโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงว่า สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ได้มุ่งทิศทางในการพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นความสำคัญของการส่งเสริมบทบาทให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาในท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้เป็นเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน ที่ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยมีโครงการที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของจำนวนโครงการที่มหาวิทยาลัยในภาคใต้ตอนบนเสนอไปยังสกอ. การประชุมในวันนี้จึงอยากให้ที่ประชุมร่วมพิจารณารายละเอียดต่างๆที่ระบุไว้ในโครงการ โดยให้ฝ่ายเลขาชี้แจงประเด็นที่ สกอ.ให้ปรับปรุงแก้ไขและให้ผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะ
…..ด้าน นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เสนอให้เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน จัดทำโครงการซึ่งมอบหมายให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นแม่ข่ายประสานงานในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการเสนอโครงการไปยังสกอ.จำนวน 15 โครงการและได้รับการพิจาณาแล้วพร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่ต้องดำเนินตามประเภท ทั้งนี้ งานบริการวิชาการฯได้จัดทำข้อสรุปจำแนกประเภทโครงการตามข้อเสนอแนะจาก สกอ. ทั้งนี้ขอเน้นย้ำในเรื่องของรายละเอียดเพื่อขอการอนุมัติ เช่น เรื่องรายละเอียดของค่าใช้จ่ายในหมวดต่างๆ เพื่อป้องการข้อผิดพลาดในการเบิกจ่าย
…..ที่ประชุมได้พิจารณาและสรุปว่า ให้เจ้าของโครงการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามประเด็นรายละเอียดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ อาธิเช่น เพิ่มเติมในส่วนของเครื่องมือวัดและประเมินผลตามโครงการที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงผลลัพธ์ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นภายหลังการจัดทำโครงการ/กิจกรรม นอกจากนี้ต้องระบุความแตกต่างของรูปแบบกิจกรรมและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งให้พิจาณาถึงความเหมาะสมของการตั้งวงเงินค่าตอบแทนการดำเนินงานในแต่ละโครงการซึ่งไม่ควรเกิน 10% จากงบประมาณที่ตั้งไว้ทั้งหมด โดยให้เจ้าของโครงการจัดส่งข้อมูลที่ได้ปรับปรุงแก้ไขฉบับสมบูรณ์มายังงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นภายในวันพุธที่ 10 มกราคม 2561
…..ในตอนท้ายผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการได้ฝากให้คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินโครงการชี้แจงถึงกระบวนการและขั้นตอนของโครงการฯให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบว่า “โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เป็นนโยบายรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ดำเนินการให้เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบนเสนอโครงการฯตามความสมัครใจ โดยไม่ได้เป็นข้อบังคับหรือเป็นข้อกำหนดให้ต้องดำเนินการ และหากหน่วยงานใดมีความประสงค์ต้องการทำก็ถือว่าเป็นคุณูปการต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติและเป็นการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม อันเป็นพลังที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป”
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี