งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ชีพจรลงเท้า ร่วมหารือเพื่อขยายผลผลิตภัณฑ์ชุมชน
ผช.งานบริการฯ – หน.งานบริการฯ ย้ำชัดน้ำยาอเนกประสงค์ ไม่ไร้น้ำยาอย่างแน่นอน ชู UBI งัดช่องทางการตลาด ขึ้นห้าง – โกอินเตอร์ พร้อมแจกกำลังใจให้ชาวชุมชนมั่นใจในมรส. เพราะขุนทะเลคือบ้านของราชภัฏสุราษฎร์ฯ
เมื่อเวลา 13.00 น. (22 ธันวาคม 2560) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำโดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น และคณะ พร้อมด้วย ดร.สุพรรณิการ์ ศรีบัวทอง รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและบริการวิชาการวิชา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลย และ ตัวแทนจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจหรือ UBI มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางไปยัง หมู่ที่ 3 ตำบลขุนทะเล ณ ศาลาประชาคม นอกจากนี้ ได้มีตัวแทนจากเทศบาลตำบลขุนทะเล โดยนางสาวมนสิชา สุวรรณภพ นักพัฒนาชุมชน ร่วมหารือ ติดตามและขยายผลผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนเป็นผู้ผลิตและจัดทำ คือ น้ำยาอเนกประสงค์ และ พริกไทยด้วย
เนื่องจากผลการประชุมการดำเนินงานในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 มีมติที่จะขับเคลื่อนขยายผลผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลในท้องถิ่นโดยการหาช่องทางการตลาด และกำหนดปฏิทินในการเดินทางไปพบปะและร่วมสนทนาหาแนวทางในการขยายผลการดำเนินงานทุกหมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลขุนทะเล
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยงานบริการวิชาการฯ มีแนวคิดว่า การผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ ไม่ควรทำเฉพาะในครัวเรือนอย่างเดียว ควรมีแผนขยายผลให้เป็นสินค้าจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับชาวชนชนหมู่ 3 ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่ต้องดำเนินการคือ จะต้องนำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกรรมวิธีในการผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ ซึ่งในเบื้องต้นขอให้สมาชิกในชมชุมจับกลุ่มในการอบรม และนำองค์ความรู้ที่ได้เป็นต้นทุนขยายผล ในการช่วยเหลือแนะนำให้ความรู้ภายในท้องถิ่น หมู่ 3 ด้วยกันเอง ทั้งนี้ เรื่องการอบรมดังกล่าวทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นผู้ดูแลและถ่ายทอดความรู้พร้อมทั้งจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และนำยาสารตั้งต้นชนิดต่างๆ หลังจากนั้นเมื่อได้ผลิตภัณฑ์น้ำยาอเนกประสงค์ที่สมบูรณ์แล้ว จะเป็นหน้าที่ของคณะวิทยาการจัดการ และ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจหรือ UBI เป็นผู้คิดค้นออกแบบบรรจุภัณฑ์ และ หาช่องทางการตลาดในการจัดจำหน่ายซึ่งหมายรวมถึงการยกระดับจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าด้วย และเมื่อสมาชิกในชุมชนได้รวมกลุ่มกันจัดทำผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพ เพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์และมูลค่ามากขึ้น ผลที่ตามมาคือ การนำมาสู่งบประมาณจากหน่วยงานต่างๆในการสนับสนุนกำลังการผลิตให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เช่น หน่วยงานจาก สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เทศบาลตำบลขุนเล เป็นต้น
ขณะที่นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้กล่าวเสริมว่า ในเบื้องต้นขอให้แกนนำชุมชนคัดเลือกตัวแทนผู้เข้าร่วมอบรมการผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ โดยประมาณ 20 คน ให้มีความรู้และสามารถนำมาปฏิบัติผลิตได้ด้วยตนเอง และเมื่อพิจารณาพร้อมทั้งหารือกับอาจารย์ผู้มีหน้าที่ฝึกอบรมได้มีความคิดว่า น้ำยาอเนกประสงค์ของขุนทะเลต้องมีความพิเศษนอกเหนือจากน้ำยาตามท้องตลาด ซึ่งอาจจะเป็นน้ำยาที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ในรูปแบบของสบู่ ผลิตภัณฑ์สปา แชมพู เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของชุมชนขุนทะเลทั้ง 10 หมู่ จะต้องอยู่ภายใต้แบรนด์ขุนเล
โดยในระยะแรกของการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชน มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ หรือองค์ประกอบต่างๆ อย่างเช่น บรรจุภัณฑ์และสติ๊กเกอร์โลโก้ โดยคณะวิทยาการจัดการ จะเป็นผู้ออกแบบและผลิตให้ และในส่วนของสารเคมีตั้งต้น สารเคมีเฉพาะที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะจัดเตรียมให้ในการผลิตครั้งแรก นอกจากนี้ ผลผลิตจากพริกไทย งานบริการวิชาการฯ จะดำเนินการจัดหาต้นกล้าพริกไทยพร้อมทั้งนำมาแจกจ่ายให้ชาวชุมชนตามความเหมาะสม ในวันที่ชาวชุมชนรวมกลุ่มกันผลิตน้ำยาอเนกประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมหลังจากที่การฝึกอบรมเสร็จ สุดท้ายนี้ ขอเน้นย้ำและให้กำลังใจว่า มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนและพร้อมที่จะช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกหมู่บ้าน เพราะมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ขุนทะเล เพราะฉะนั้นจะต้องตอบแทนท้องถิ่นอย่างเต็มความสามารถ
มติที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า มหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ตัวแทนหมู่ที่ 10 จำนวน 20 คน ในวันที่ 28 – 29 มกราคม 2561 เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจะกำหนดวันนัดหมายรวมกลุ่มกันผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ในรูปแบบที่ผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่สมบูรณ์ในครั้งต่อไป
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวทิ้งท้ายว่าขอให้ชาวชุมชนเชื่อมั่นในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยพร้อมจะนำเอาทุกสิ่งที่มี ทั้งองค์ความรู้ ช่องทางเครือข่าย และสรรพกำลังของทุกคนในองคาพยพ จะร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทุกข์และร่วมสุข เพราะมีเพียงจุดประสงค์เดียวคือการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนขุนทะเล โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ แต่สิ่งเดียวที่มหาวิทยาลัยต้องการคือ รอยยิ้ม ความสุข และมองเห็นชาวชุมชนยืนหยัดได้ด้วยตนเอง เพราะมหาวิทยาลัยระลึกอยู่เสมอว่าขุนทะเลเป็นบ้านและมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของขุนทะเล
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี