มรส.จัดประชุมเครือข่ายบริการวิชาการมุ่งแก้ปัญหาการจัดการน้ำ 8 มหาลัยฟันธงร่วมฝ่าวิกฤต น้ำท่วม น้ำเสีย และคุณภาพน้ำ
ปรึกษาอธิการบดี ชี้แนวทางปรากฏการณ์ “พี่ตูน BODYSLAM” เป้าหมายชัด – ประเมินตนเอง – มีหน่วยสนับสนุน – จิตจำนงบริสุทธิ์ – ยุทธวิธีเป็นขั้นตอน ด้าน ผช.ฝ่ายบริการวิชาการ จี้ ปัญหาน้ำเสีย สุราษฎร์ฯกระทบหนัก ชูประเด็นเร่งแก้ ไว้ในแผนแม่บท
…..เมื่อเวลา 09.00 น. (25 ธันวาคม 2560) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ดำเนินการจัดประชุมเครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย (ภาคใต้) และเสนอผลงาน เรื่อง การบริหารจัดการน้ำภาคใต้ ณ ห้องประชุมผดุงชาติ ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี ทั้งนี้ได้มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยในภาคใต้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 8 แห่ง คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมี ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พราหมณพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา และดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานบริหารเครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย เป็นประธานในการประชุม
…..ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวต้อนรับคณะทำงานพร้อมทั้งให้ข้อคิดในการดำเนินการดังกล่าวว่า การบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน สร้างแผ่นดินให้มีพลังโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำว่าสร้างแผ่นดินให้มีพลังหมายถึง การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังแห่งการพัฒนา สร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม โดยอยากจะยกตัวอย่างให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ พี่ตูนBODYSLAM ผู้คิดและทำโครงการก้าวคนละก้าวจนประสบความสำเร็จ และถือได้ว่าเป็นการบริการชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุผลที่มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ คือ 1. มีเป้าหมายชัดเจน เช่น กำหนดไว้ว่าจะทำการช่วยเหลือกี่โรงพยาบาล ตั้งเป้างบประมาณจำนวนเท่าไหร่ และกำหนดระยะทางการวิ่งกี่กิโลเมตร 2. การประเมินตนเอง โดยการประเมินศักยภาพและความพร้อมของสภาพร่างกาย 3. มีหน่วยงานสนับสนุน ทั้งภาครัฐและเอกชน 4. จิตจำนงที่บริสุทธิ์ ไม่คิดหวังผลตอบแทน และ 5. ยุทธวิธีและกระบวนการวางแผนอย่างเป็นระบบและขั้นตอน
…..ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าการดำเนินการประชุมในวันนี้ทุกมหาวิทยาลัยมีจิตจำนงที่ดี มีเป้าหมายและเจตนารมย์เพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดังนั้นทุกกระบวนการถือว่าเป็นเรื่องที่งดงามอย่างยิ่งและผลการประชุมในวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจะนำเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
ขณะที่ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้ชี้แจงปัญหาที่เกิดในจังหวัด สุราษฎร์ธานีว่า มีกรณีที่ศึกษาที่น่าสนใจ ในเรื่องของการทดสอบคุณภาพน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการกำจัดเชื้อโรคและความปลอดภัยทางด้านอาหารได้มาทดสอบลุ่มแม่น้ำตาปีตลอดทั้งสาย พบว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำตาปีไม่ได้มาตรฐานและสกปรกซึ่งนำมาสู่เชื้อโรคหลายชนิด ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค ประเด็นที่สองคือ การจัดการป่าต้นน้ำที่อาจจะต้องระบุไว้ในแผนแม่บท
…..ในส่วนขั้นตอนของการดำเนินงาน ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ได้มุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่และการสร้างความเชื่อมั่นจากหน่วยงานรัฐ โดยการสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายภาครัฐที่เริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่กำลังหาแนวทางแก้ไขในเรื่องของปัญหาน้ำ ทั้งนี้ที่ประชุมจะต้องมีโมเดลที่ชัดและสามารถนำเป็นแนวทางขับเคลื่อนได้จริง โดยแผนแม่บทที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ข้อสรุปในวันนี้จะเป็นแนวทางการจัดการที่เกิดผลชัดเจน และไม่ทำให้วอร์รูมของรัฐบาลปรากฏมาแบบไร้ทิศทางในเรื่องของการจัดการน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือคุณภาพของน้ำ นอกจากนี้ เคยได้เสนอแนวคิด People University Government แนวคิดสามเหลี่ยม คือ ประชาชน มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ ซึ่งถ้าสามเหลี่ยมนี้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้ก็จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
…..ที่ประชุม ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้รวบรวมข้อมูล และได้เห็นชอบดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ 3 ประเด็น คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพของน้ำ โดยการนำแผนการดำเนินงานจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายบริการวิชาการ 8 แห่ง โดยใช้งบประมาณตาม 3 ระบบ คือ Function Area และท้องถิ่น ซึ่ง Area จะรวมไปถึงการบูรณาการทั้งงบประมาณระดับภาคและระดับจังหวัด ส่วนงบ Function จะต้องทำ MOU ระหว่างหน่วยงานต่างๆ
…..นอกจากนี้ การบูรณาการแผนจะต้องพิจารณาตามโครงการทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับกลาง ซึ่งต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ในภาคใต้ เป็นกรอบการดำเนินงานในการจัดทำแผนแม่บทที่ชัดเจนและสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอรัฐบาล โดยกำหนดส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังตัวแทนผู้รับผิดชอบจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายในวันที่ 12 มกราคม 2561 และจะส่งกลับมายังมหาวิทยาลัยเครือข่ายภายในวันที่ 19 มกราคม 2561 เพื่อพิจารณาและดำเนินการ นอกจากนี้ที่ประชุมได้กำหนดจัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 26 มกราคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี