งานบริการวิชาการฯ จับมือคณะพยาบาลฯร่วมหารือแกนนำหมู่ 10 ขุนเล ตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เห็นพ้องลงเสาเข็ม มกราคม 2561
ผช.ฝ่ายบริการวิชาการ เผยแม่งานพยาบาลไฟแรง เร่งจัดการเรียนการสอนจัดเต็มองค์ความรู้ สู่ชุมชนท้องถิ่น หวังยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อาชีพสร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเหลือตนเองต่อไป
…..เมื่อ 09.00 น. (26 ธันวาคม 2560) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ พร้อมด้วยผู้ช่วยคณบดีศูนย์สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและคณะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางไปยังศาลาประชาคม หมู่ที่ 10 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมหารือกับแกนนำและผู้ประสานงานในหมู่บ้านดังกล่าว เรื่องการแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุที่มหาวิทยาลัยจะมาดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน
…..เนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 มีมติให้มีการสังเคราะห์หลักสูตร โดยคณะพยาบาลศาสตร์ งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในเขตพื้นที่ขุนทะเล อันได้แก่ เทศบาล,กศน.พระภิกษุ,อาจารย์ผู้เกษียณอายุราชการ,ปราชญ์ชาวบ้าน
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เปิดเผยถึงการดำเนินงานว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมหารือกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และแกนนำชุมชนหมู่ที่ 10 เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุที่มหาวิทยาลัยจะมาดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า มหาวิทยาลัยจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ม.10 และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะเริ่มดำเนินการเปิดการเรียนการสอนในเดือนมกราคม 2561 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมและได้รับองค์ความรู้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะได้รับประกาศนียบัตรการผ่านหลักสูตรผู้สูงอายุ และจะสามารถเป็นเครือข่ายการกระจายความรู้ไปยังผู้สูงอายุในท้องถิ่นได้อีกด้วย
…..ทั้งนี้ โครงการการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ได้เริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นและคณะพยาบาลศาสตร์ ด้วยเจตนารมย์ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวชุมชนในวัยเกษียณและเล็งเห็นถึงความสำคัญของประโยชน์ที่ชุมชนได้รับ คือการเรียนรู้ทักษะทางด้านอาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเหลือตนเอง และส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบทอดต่อไป
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี