งานบริการวิชาการฯ มรส.ร่วมกับอบจ.สุราษฎร์ธานี เปิดฟลอร์ให้โชว์กึ๋น นำเสนอโครงการพัฒนาเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว ดอนสัก – เกาะพะลวย

ที่ปรึกษาอธิการบดี ยก ปรากฏการณ์ คลื่น VUCA มรส.และ อบจ. ต้องร่วมฝ่าฟันไปด้วยกัน ชี้ชัด! ทำงานแบบ atand alone ไม่ได้อีกแล้ว ควรจับมือตั้งเป้าหมายเพื่อชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

…..เมื่อ‪เวลา 10.00 น. (18 มกราคม 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ       สุราษฎร์ธานี ดำเนินการจัดประชุมเพื่อนำเสนอโครงการพัฒนาเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวดอนสัก – เกาะพะลวย ณ ห้องประชุมผดุงชาติ สำนักงานอธิการบดี ทั้งนี้ ได้มีผู้บริหารและผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด      สุราษฎร์ธานีเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดกระบวนการดำเนินงานของอาจารย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์  พุทธิชีวิน ที่ปรึกษาอธิการบดี เป็นประธานที่ประชุมและกล่าวต้อนรับคณะทำงาน

…..เนื่องจากโครงการพัฒนาเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวดอนสัก – เกาะพะลวย ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นได้ดำเนินการกำหนดแผนเพื่อต่อยอดในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆให้มีหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นคณะทำงานจึงมีความคิดที่จะสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีนโยบายและเจตนารมย์เดียวกันในการทำงาน

…..ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์  พุทธิชีวิน ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ทำการเปิดประชุมและให้แนวคิดในการดำเนินงานว่า การวางแผนและการดำเนินงานในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จะทำงานแบบ stand alone ไม่ได้ จะต้องร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนผนึกกำลังช่วยเหลือผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย นอกจากนี้การที่หน่วยงานร่วมกันทำงานตามพันธกิจใดๆก็ตามพลังแห่งความสามัคคีจะช่วยให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ด้วยดี ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ VUCA ที่ทุกภาคส่วนไม่ควรนิ่งเฉยและปล่อยให้เกิดผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว โดย VUCA เป็นคำที่เกิดจากอักษรตัวแรกของคำ 4 คำ  V ย่อมาจาก Volatility กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีความผันผวนไม่ยั่งยืนและแน่นอน U ย่อมาจาก Uncertainty คือความไม่แน่นอน กล่าวคือ ทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้เข้าใจกันอย่างนี้แต่ในวันพรุ่งนี้ความหมายอาจมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ C ย่อมาจาก Complexity คือ ปรากฎการณ์ความซับซ้อน เช่น การดำเนินโครงการที่ร่วมกันพูดคุยกันในวันนี้ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดอนสัก – เกาะพะลวย ไม่ใช่แค่นั่งเรือ ไปร่วมพูดคุยกับชาวบ้านแล้วกลับ แต่มีความซับซ้อนมากกว่านั้นในบริบทพื้นที่ต้องร่วมกันศึกษาค้นคว้าให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่แท้จริง A ย่อมาจาก Ambiguity คือความกำกวม ไม่ชัดเจน การทำงานอาจจะมีอะไรที่ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอนเกิดขึ้น

…..ดังนั้น “ถ้าเราไม่ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง คิดเพียงแต่ stand alone ก็ไม่สามารถฝ่าฟันปรากฏการณ์ VUCA ได้อย่างแน่นอน การดำเนินโครงการแหล่งท่องเที่ยวจึงต้องผสมผสานความร่วมมือกันระหว่าง อบจ.และมรส. การดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตของชาว เป็นหน้าที่ของอบจ. แต่ในศาสตร์ของการเป็นวิชาการ ต้องเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการช่วยเหลือดูแล ณ วันนี้ มหาวิทยาลัยไม่ต้องการประกาศว่าผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จได้นั้นเป็นฝีมือของเราแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ว่า มหาวิทยาลัยฯมีปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ”

…..ด้าน ดร.สมปราชญ์  วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงลำดับขั้นตอนในการนำเสนอโครงการว่า การนำเสนอโครงการในที่ประชุมวันนี้มีจำนวน 6 กิจกรรม คือกิจกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนบนเส้นทางท่องเที่ยวดอนสัก – เกาะพะลวย ผู้รับผิดชอบคืออาจารย์ศันสนีย์ วงศ์สวัสดิ์จากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว กิจกรรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการสร้างเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยทางน้ำในแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้รับผิดชอบคือ ดร.อรัญญา รักหาบ จากคณะพยาบาลศาสตร์ กิจกรรมการสำรวจและอนุรักษ์สมุนไพรที่มีสรรพคุณส่งเสริมสุขภาพของบ้านเกาะพะลวย ผู้รับผิดชอบคือ ดร.ภควดี รักษ์ทอง จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจรรมแปรรูปผลิตอาหารทะเลบนเส้นทางท่องเที่ยวดอนสัก – เกาะพะลวย ผู้รับผิดชอบคือ ผศ.เตชธรรม สังข์คร จากคณะวิทยาการจัดการ และกิจกรรมการจัดการและป้องกันปัญหาขยะจากทะเลเกาะพลวยโดยใช้แนวป้องกันขยะ ผู้รับผิดชอบคือดร.พงษ์ศักดิ์ นพรัตน์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุดท้ายคือกิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัยบนเส้นทางท่องเที่ยวดอนสัก – เกาะพะลวย มี ดร.รัชฎาพร ไทยเกิด จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้รับผิดชอบ

…..นอกจากนี้ผลจากการประชุมได้สรุปว่าให้ผู้รับผิดชอบโครงการประสานกับส่วนงานต่างๆขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามหัวข้อกิจกรรมที่ได้กล่าวมา โดยดำเนินการเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 และหากมีการแก้ไขในส่วนใดให้นำกลับมาปรับแก้ให้เสร็จภายในวันที่ ‪15 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อนำเข้าสู่แผนปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไป

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts