งานบริการวิชาการฯเร่งหารือ งัดแผนการดำเนินงานแปรรูปผลิตผลชุมชน ผนึกกำลังสายแข็งแห่งการจัดการและวิทยาศาสตร์ฯ เห็นพ้องชู Brand เดียวแต่หลากผลิตภัณฑ์
…..ผู้ช่วยอธิการบดีฯ สตาร์ทเครื่องแรง อยากทำให้สำเร็จและเร็วที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการ
ชุมชนท้องถิ่น ด้านศูนย์ UBI ใจป้ำอัดงบสนับสนุนโครงการฯ หวังยกระดับคุณภาพชีวิต
ชาวขุนทะเล ให้สมกับเป็นพื้นที่มหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน
…..เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมหารือร่วมกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ณ สำนักงานศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI ทั้งนี้เพื่อการดำเนินการกำหนดแผนงานการช่วยเหลือและให้ความรู้พร้อมทั้งการจัดฝึกอบรมเบื้องต้นในการแปรรูปผลิตผล การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเทคนิควิธีการใช้ช่องทางตลาด Online เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นของฝากของชำร่วย
…..โดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินการว่า “งานบริการวิชาการท้องถิ่นได้ขอความอนุเคราะห์และจัดประชุมหารือร่วมกับอาจารย์เตชะธรรม สังข์คร อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก และ ผศ.นินธนา เอี่ยมสะอาด อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ เอกการจัดการทั่วไป และคุณฐิติมา บุญยัง ผู้จัดการสำนักงานศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI พร้อมทั้ง ดร.อุราภรณ์ เรืองวัชรินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร นอกจากนี้ ยังมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คือ อาจารย์ณัฐพล เมฆแดง และ อาจารย์สัญธิพร พุ่มคง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อการประชุมในครั้งนี้ด้วย ”เนื่องจากการสรุปผลการประชุมแกนนำในท้องถิ่นตำบลขุนทะเล จำนวน 10 หมู่บ้านเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยควรดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องการคิด Brand ของผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนขุนทะเล และจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิธีการแปรรูปและถนอมอาหาร พร้อมทั้งเทคนิคการตลาด Online ทั้งนี้จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 นี้ ดังนั้นจึงอยากให้ที่ประชุมพิจารณาว่า การสร้าง Brand ควรเป็นการสร้างแบบ Brand เดียว แต่หลากหลายผลิตภัณฑ์ หรือ หนึ่ง Brand ต่อ หนึ่งผลิตภัณฑ์
…..ซึ่งอาจารย์เตชธรรม สังข์คร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ได้ให้เหตุผลว่า “การสร้างแบบ Brand เดียวน่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนกว่า และทำได้ง่ายครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของชุมชน และเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชุมชนขุนทะเล สร้างการจดจำได้ง่ายไม่สับสน นอกจากนี้ยังต่อยอดยกระดับเพื่อเสริมสร้างท่องเที่ยวได้ง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย”
…..ด้านนายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการฯ ได้กล่าวถึง ผลิตภัณฑ์ในชุมชนว่า “ตามที่ได้พูดคุยกับตัวแทนและแกนนำของชาวบ้าน ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ว่ามีจำนวน 7 ชนิดคือ 1. ทุเรียนทอด 2. มัลเบอร์รี่ 3.ปลาดุกร้า 4. เครื่องแกง 5. ไข่เค็ม 6. ผักปลอดสารพิษ และ 7.น้ำมันเหลือง ซึ่งผลิตผลบางชนิดชาวบ้านต้องการความรู้และนำไปต่อยอดในการแปรรูปอาหารด้วยตนเอง เช่น การแปรรูปผลมัลเบอร์รี่เป็นแยม เพราะสามารถนำไปบริโภคและซื้อขายได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เป็นผู้อบรมให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว
…..ขณะที่ ดร.อุราภรณ์ เรืองวัชรินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ได้กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการและให้ความรู้กับชาวชุมชนนั้นทำได้ไม่ยากและใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่ต้องขอเวลาให้ทางเทคโนโลยีการอาหารร่วมกันคิดสูตรใหม่ในการแปรรูปแยมผลมัลเบอร์รี่ให้มีรสชาติที่ดีน่าจะนำไปบริโภคและสามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้”
…..ด้าน ผศ.นินธนา เอี่ยมสะอาด อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ได้กล่าวถึงเทคนิควิธีในการจัดทำตลาดซื้อขายแบบ Online ว่าควรให้กระบวนการของการแปรรูปอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสร้าง Brand เสร็จสิ้น จึงสามารถจัดทำเพจช่องทางการตลาด Online ได้ เพราะการหาช่องทางตลาดเป็นกระบวนการสุดท้ายของโครงการดังกล่าว
…..ในส่วนของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผู้จัดการสำนักงานศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI ได้กล่าวว่า ควรพิจารณาถึงวัตถุดิบและผลิตผลที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เช่น เมื่อแปรรูปเป็นแยมมัลเบอร์รี่แล้ว ควรใช้วัตถุดิบในการจัดทำบรรจุภัณฑ์ในลักษณะใด เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสะอาดถูกหลักอนามัย นอกจากนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมยังเป็นจุดขายในการตัดสินใจซื้อของนักท่องเที่ยวอีกด้วย อย่างไรก็ตามศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ UBI ได้พิจาณาถึงกระบวนการต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมด และได้วิเคราะห์งบประมาณในการดำเนินงานโครงการแล้วค่อนข้างสูงเพราะต้องจัดทำรูปแบบตัวอย่างให้ชุมชนได้พิจารณาก่อน ซึ่งมีจำนวนถึง 7 ชนิด ดังนั้นจึงขอสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กับโครงการนี้ เพราะเล็งเห็นแล้วว่าชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
…..นอกจากนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เผยถึงผลจากการได้ร่วมพูดคุยกับชาวชุมชนเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาดุกว่า “มีเกษตรกรผู้เพราะเลี้ยงปลาดุกได้สอบถามเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลาดุกซึ่งประกอบไปด้วยบ่อดิน และบ่อปูน ต่อมาได้มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาดุกแบบบ่อปูนเพราะสะอาดปราศจากดินและโคลน จากนั้นได้ทำการแปรรูปอาหารเป็นปลาดุกร้า แต่พบว่าเนื้อของปลาดุกที่เลี้ยงในบ่อดินจะมีลักษณะนุ่มและมีรสชาติอร่อยกว่าบ่อปูน ดังนั้นจึงอยากทราบข้อมูลว่าการทำปลาดุกร้าควรจะเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อปูน”
…..ขณะที่ อาจารย์ณัฐพล เมฆแดง และ อาจารย์สัญธิพร พุ่มคง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้ให้เหตุผลว่า การเพาะเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินจะมีการเจริญเติบโตเร็วและมีขนาดใหญ่กว่าบ่อปูน เพราะบ่อดินมีโคลนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงอีกด้วย อย่างไรก็ตามการเพาะเลี้ยงในบ่อดังกล่าวก็ยังมีข้อเสียคือ อาจจะมีกลิ่นโคลนที่ติดอยู่กับเนื้อปลา ซึ่งทางสาขาวิชาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจัดระบบการเลี้ยงแบบบูรณาการที่เคยใช้สำเร็จกับการเลี้ยงปลาคาฟมาจัดการ โดยนำเอากะละมังใส่ดินแล้วนำไปวางไว้ในบ่อปูน เพราะจะได้ความสะอาดของเนื้อปลาพร้อมทั้งแร่ธาตุจากดินและโคลนควบคู่กับไปด้วย
…..ทั้งนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอขอบคุณทุกองคาพยพของมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดินแห่งนี้ ในการที่จะร่วมกันพัฒนาและยกระดับวิถีชีวิตของชาวชุมชนท้องถิ่น และหวังว่าสิ่งที่ทุกคนได้ร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมคิด จะเป็นพลังในการผลักดันให้ทุกชีวิตของพี่น้องขุนทะเลสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี