งานบริการวิชาการฯจัดประชุมเตรียมความพร้อมทีม วนช. – ศิลปะวัฒนธรรมฯลงพื้นที่พุมเรียงหวังยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความต้องการของชุมชน
…..ที่ประชุมเห็นชอบจัด Focus group 3 กลุ่ม ชี้ชัดแนวทางการดำเนินงาน การท่องเที่ยว – ศิลปะและวัฒนธรรม – แผนและผังเมือง ด้านชุมชน เผย สุดดีใจรอทีมมรส.ช่วยขับเคลื่อนพุมเรียงโมเดลเป็นจริง
…..เมื่อเวลา 11.00 น. (30 มกราคม 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อนำเสนอและทำความเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นพร้อมทั้งหาข้อสรุปของการดำเนินงานในระยะที่ 2 ในพื้นที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์อนุรัตน์ แพนสกุล ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมด้วยทีมงาน อาจารย์เกสสิณี ตรีพงศ์พันธ์ พร้อมทั้งทีมดำเนินงานจากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยวและ ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนและผังเมืองจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี
…..เนื่องจากงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น และคณะ ได้ลงพื้นที่ตำบลพุมเรียง (7 มกราคม 2561) ร่วมหารือกับแกนนำชุมชนเรื่องของการยกระดับมิติการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ พร้อมทั้งการจัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแนวทางการนำเสนอวิถีชีวิตและเรื่องราวความเป็นมาของประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชุมชนดังกล่าว เพื่อการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในช่องทางต่างๆ และ ดำเนินการเป็นพุมเรียงโมเดลซึ่งได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าทางคณะทำงานจะลงพื้นที่ร่วมระดมความคิดกับแกนนำชุมชนพุมเรียงอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561
…..ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า แผนการดำเนินงานในระยะต่อไปของพื้นที่พุมเรียงจะต้องหาข้อสรุปการตกผลึกความต้องการของชาวบ้านและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นจะให้คณะทำงานนำเสนอข้อมูลที่มีอยู่ซึ่งประเด็นแรกคือการนำเสนอเรื่องการท่องเที่ยวของชุมชนพุมเรียง โดยวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว ประเด็นที่สอง จะเป็นในเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมวิถีชีวิตของตำบลพุมเรียง โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม และประเด็นที่สามคือการทำแผนและผังเมือง โดย ดร.นรา พงษ์พานิช จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้งนี้ เมื่อการนำเสนอข้อมูลในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เสร็จสิ้น ทางคณะทำงานก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านว่าจะต้องปรับเสริมในด้านใดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์
…..ในส่วนของมติที่ประชุม ดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า หลังจากการนำเสนอข้อมูลของคณะทำงานเสร็จสิ้น จะแบ่งกลุ่มชาวบ้านเป็น 3 กลุ่มเพื่อทำกิจกรรม Focus group ซึ่งแตกประเด็นที่ต้องสนทนาเป็น 3 ประเด็น คือ 1.บริบทของชุมชนและข้อมูลเบื้องต้น 2.ชาวชุมชนต้องการอะไรเพิ่มเติมจากเนื้องหาสาระ และ 3. ปัญหาและอุปสรรค เมื่อสรุปผลจากการ Focus group เสร็จสิ้น ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอ และปิดท้ายการนำเสนอด้วยการจัดทำแผนและผังเมือง ซึ่งผู้ช่วยอธิการบดีฯได้กำชับเรื่องการใช้เวลาในการดำเนินงานทั้งหมดจะต้องไม่ยืดเยื้อและเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี